คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พิธีการศุลกากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นตัวแทนติดต่อประสานงาน ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่งตามกฎหมาย
ตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าและตัวแทนดำเนินการตามพิธีการศุลกากร ทั้งที่การท่าอากาศยานและการท่าเรือเพื่อนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนในการรับส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ประกอบกิจการบริการให้เช่าช่วงรถบรรทุกสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ และใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ในช่องสำหรับการส่งมอบสินค้ากรุณาติดต่อ ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในการติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า สอดคล้องกับหนังสือแจ้งการมาถึงของเรือ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้ดำเนินการติดต่อส่งมอบสินค้าเมื่อเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าตามคำฟ้องเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ใบตราส่งดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ขนส่ง
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ตลอดจนเรือบรรทุกสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าตามใบตราส่ง การที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าระวางไปยังผู้เอาประกันภัยตามใบเรียกเก็บค่าระวางที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น โดยไม่ปรากฏค่าธรรมเนียมตัวแทนในใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้ผู้เอาประกันภัย ก็เป็นการดำเนินการในฐานะบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรับขนของทางทะเล ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการรับขนสินค้าอันจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เอาประกันภัยได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท และจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าวอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศ คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้อง จึงเป็นข้อแก้อุทธรณ์ที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9937/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสินค้าทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ หากมูลค่าสูงเกินเกณฑ์ต้องผ่านพิธีการศุลกากร
ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การขนส่งไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในบังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ การฝากส่งสิ่งของพัสดุไปรษณีย์กับจำเลย จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2549 โดยอนุวัติตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ประกอบ พ.ร.ฎ. กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการฝากส่งสิ่งของนั้น
เมื่อสิ่งของที่ฝากส่งเป็นสินค้าประเภทอัญมณีเครื่องประดับมีมูลค่าสูง แต่ผู้ฝากส่งสิ่งของใช้วิธีการส่งประเภทไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ โดยระบุที่หีบห่อพัสดุว่า "STONE" และมิได้ระบุราคาสินค้าหรือแจ้งราคาสินค้าหรือได้ทำไปรษณีย์รับประกันระหว่างประเทศไว้กับจำเลย ซึ่งตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 43 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2525 หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์และหลักการข้อ 8 และระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 43 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 พ.ศ.2530 ข้อ 8 กำหนดชนิดของสิ่งของที่จะส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศไว้ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการออกระเบียบดังกล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการควบคุมการส่งสิ่งของทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นสากล ไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้วิธีการทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศฝากส่งสิ่งของต้องห้ามหรือต้องจำกัดการส่งออกไปยังปลายทางโดยปราศจากการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่สิ่งของนั้นได้ถูกส่งถึงผู้รับยังปลายทางในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อผู้ฝากส่งส่งอัญมณีที่มิได้ระบุไว้ว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามฝากส่ง แต่มีมูลค่าสูงเกินกว่าที่จะส่งได้ด้วยวิธีการส่งประเภทไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศโดยไม่ต้องปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากรก่อน ทั้งไม่ได้แจ้งราคาสิ่งของที่ฝากส่งด้วย จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวโดยชัดแจ้ง ถือเป็นความเสี่ยงภัยของผู้ฝากส่งเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11833/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำยาเสพติดเข้าประเทศ ความผิดสำเร็จไม่ใช่พยายาม พิธีการศุลกากรไม่ใช่ขั้นตอนการพยายาม
บุคคลที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยจะต้องผ่านพิธีการตรวจโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อน เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว หลังจากนั้นจึงมาผ่านขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่จะต้องตรวจสิ่งของต้องห้ามต่อไป การที่จำเลยนั่งรถยนต์รับจ้างจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยบริเวณด่านศุลกากรสะเดา ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จึงถือว่าจำเลยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว เมื่อจำเลยถูกนายตรวจศุลกากรตรวจค้นและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุอยู่ภายในซองพลาสติกใสใส่ไว้ในกระปุกครีมใส่ผมในกระเป๋าสะพายของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักร หาใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนดำเนินการพิธีการศุลกากรในฐานะผู้นำเข้าเมื่อใบขนสินค้าลงวันที่หลังผู้มอบอำนาจเสียชีวิต
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า