คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พิสูจน์หนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 31 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สามารถแก้ไขได้ก่อนมีคำพิพากษา และการพิสูจน์หนี้ตามเช็คพิพาท
การที่ใบแต่งทนายความของโจทก์ใช้ตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. แทนที่จะใช้ตราประทับของบริษัทโจทก์ เป็นผลมาจากการหยิบตราประทับผิด อันเป็นการผิดพลาดบกพร่องในตัวผู้แต่งทนายความไม่ใช่การพิจารณาผิดระเบียบ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความที่ถูกต้องเข้ามาใหม่พร้อมคำแก้อุทธรณ์ อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะสั่งสอบสวนหรือยอมรับการแก้ไขนั้นได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายจำเลยจะยกเอาข้อบกพร่องนี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้แต่งทนายไม่เหมือนและไม่ใช่ลายมือชื่อของ บ. ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยอุทธรณ์ว่า บ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นการกระทำในนามของห้างไม่ใช่บริษัทโจทก์ นอกจากนี้บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ที่ว่าไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา... นั้น มิได้หมายความถึงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล เมื่อความสามารถในการฟ้องของโจทก์บกพร่องและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่เข้ามาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับขึ้นมาแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงเห็นสมควรอนุญาตยอมรับการแก้ไขนั้น ดังนี้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์จึงกลับเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่แรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีขาดนัด และการพิสูจน์หนี้จากเอกสารทางบัญชีบัตรเครดิต ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยชำระหนี้ตามยอดคงเหลือ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในขณะฟ้องคดีนี้บัญญัติให้คู่ความเพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารเพียง 10 ฉบับและไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายบัตรเครดิตของจำเลยครบถ้วนแต่ตามหลักฐานที่โจทก์นำส่งจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นจำนวนหลายครั้งให้แก่โจทก์ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาอ้างส่งต่อศาล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายที่จะชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) โดยโจทก์ไม่ต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งหมดอ้างส่งเป็นพยานแต่อย่างใด
สัญญาบัตรเครดิตตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้แก่จำเลยไม่ได้และได้ประกาศหนังสือพิมพ์ระหว่างวันที่ 17ถึง 21 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศ หากพ้นกำหนดให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นอันยกเลิก เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือได้ว่าสัญญาบัตรเครดิตเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้คือวันที่ 5 สิงหาคม 2541 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าหุ้นต้องเป็นเงินสดตามกฎหมาย การตกลงชำระด้วยวัสดุอุปกรณ์ไม่ผูกพันจำเลย ผู้ร้องต้องพิสูจน์การชำระหนี้
การส่งใช้เงินค่าหุ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1119,1120 และ 1221 กำหนดให้ต้องส่งใช้เป็นเงินเท่านั้น โดยกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นตามวิธีการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้มีจดหมายส่งลงทะเบียนบอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นไปยังผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจึงได้มีการตกลงกันภายในระหว่างสองบริษัทว่า "หนี้ค่าหุ้นที่ทวงถามไปนั้น บริษัทจำเลยขอให้บริษัทผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนการชำระเป็นเงิน" ข้อตกลงดังกล่าวหากมีจริงก็ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย นอกจากนี้ในส่วนงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยกฎหมายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว หาใช่ว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระให้แก่จำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์มูลหนี้ในคดีล้มละลายด้วยเอกสารต้นฉบับ หรือแสดงเหตุผลที่ไม่อาจหาเอกสารต้นฉบับได้
ผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น หรือเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนั้นเอง และในชั้น จ.พ.ท. นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 104 แม้จะไม่มีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้น มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า มูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ส่งสำเนาคำแถลงที่เจ้าหนี้ขอคัดสำเนาคำพิพากษาและสำเนาบัญชีค่าฤชาธรรมเนียม กับขอต้นฉบับคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน การ์ดบัญชีกระแสรายวันและหนังสือทวงถามคืนจากศาลจังหวัดจันทบุรี กับแนบสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งที่รับรองสำเนาถูกต้องมาท้ายอุทธรณ์นั้นเป็นเวลาภายหลังจาก จ.พ.ท. ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้ว จึงพ้นกำหนดเวลาสอบสวนของ จ.พ.ท. และพ้นกำหนดเวลาพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ จ.พ.ท. หรือศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เจ้าหนี้นำสำเนาเอกสารเหล่านั้นมาอ้างได้ สำหรับสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องที่เจ้าหนี้แนบมาท้ายอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะส่งอ้างเอกสารเป็นพยานได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อน จ.พ.ท. จะทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้น เจ้าหนี้ก็แถลงหมดพยาน และขอใช้สำเนาเอกสารที่ส่งอ้างไว้แล้วเป็นพยานเท่านั้น เท่ากับเจ้าหนี้ไม่ติดใจที่จะส่งอ้างต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบที่เจ้าหนี้จะยกเอาเรื่องการที่ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารและไม่สามารถคัดสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งกับสำเนาบัญชีค่าฤชาธรรมเนียมที่รับรองสำเนาถูกต้องมาแสดงต่อ จ.พ.ท.ขึ้นมาอ้างอีก ชอบที่ศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏอยู่ในสำเนาการสอบสวนของ จ.พ.ท. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7853/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลาย, การประวิงคดี, หนี้ร่วมสามีภริยา, การพิสูจน์หนี้, การรู้เห็นยินยอม
การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เจ้าหนี้เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะเป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่ และจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกัน
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการโดยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 19,020,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสอง2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (7) และ (9) ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงครบถ้วนตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 และครบถ้วนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง และจำเลยที่ 1 เบิกความเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 วันที่ 19 ธันวาคม 2537 วันที่ 6 และ 20 กุมภาพันธ์2538 เวลา 9 นาฬิกา รวม 4 วัน ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่าสืบพยานจำเลยที่ 1 เสร็จเมื่อใดให้จำเลยที่ 2 สืบต่อ เมื่อถึงวันนัดที่เลื่อนมาจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเตรียมพยานมาโดยผิดหลง ขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อในนัดหน้า โดยจำเลยที่ 1 ขอสืบ ส.อีกปากเดียว ศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 1 แถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยที่ 2นำพยานเข้าสืบต่อ จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนอ้างว่าไม่ได้เตรียมพยานมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 รวม 2 นัด ตามที่นัดไว้เดิม เมื่อถึงวันนัดต่อมา จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดอบรมที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 เดือน และแถลงว่าติดใจสืบตัวจำเลยที่ 2 กับ ส.เพียง 2 ปากนอกนั้นจะขอส่งคำให้การพยานจากศาลแขวงนครราชสีมาแทน สำหรับ ส.อาจจะไม่สืบ ต้องรอคำเบิกความจำเลยที่ 2 ก่อน และแถลงเพิ่มเติมว่านัดหน้าจะนำตัวจำเลยที่ 2 หรือ ส.มาเบิกความ จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อ ตามที่นัดไว้เดิม ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือ ส.มาเบิกความแต่กลับขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2ติดการอบรมที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2หลายครั้งแล้ว และครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนก็แถลงว่าจะนำตัวจำเลยที่ 2หรือ ส.มาเบิกความและจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือ ส.มาเบิกความตามที่แถลงไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง ในการกู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมด้วย โดยจำเลยที่ 2 เคยไปรับเงินกู้จากโจทก์พร้อมกับจำเลยที่ 1 หลายครั้ง นอกจากนี้เมื่อสามีโจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 และได้พูดเรื่องหนี้สินกับจำเลยที่ 2 กับขอให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ก็รับปากจะใช้หนี้สินทั้งหมดให้ แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับไม่ยอมลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินตลอดมา แม้จำเลยที่ 2จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ฉบับดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 รับรู้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นตลอดมา ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1490 (3) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การมอบอำนาจ, และการพิสูจน์หนี้เงินกู้: การรับฟังพยานหลักฐานและการค้ำประกัน
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1144,1158 และ 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกัน แต่การมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจ ให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้ โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจ ให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้ แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการ มอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใด โดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสี่ถูกโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.9 มาเป็น พยานหลักฐานยันจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และไม่ได้ขออนุญาต คัดค้านในภายหลังก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้ คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125 เอกสารหมาย จ.9 จึงรับฟังพยานหลักฐานได้ ในการกู้เงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินไว้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวแล้วนั้นมิใช่เป็นหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทน, การแก้ไขคำฟ้อง, และการพิสูจน์หนี้: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการฟ้องร้องและการแก้ไขคำฟ้องในคดีหนี้สิน
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ อ. ดำเนินคดีทางศาลแทนโจทก์ได้ทั่วไปในคดีทุกชนิด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีล้มละลาย จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป แม้โจทก์จะได้มอบอำนาจโดยมิได้ระบุให้ฟ้องผู้ใดเป็นจำเลย และมอบอำนาจไว้นานเพียงใด อ. ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยไม่จำต้องมีหนังสืออนุญาตจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยอีก
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์แจ้งชัดพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้ว ส่วนโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอย่างไร จากยอดเงินใด ระยะเวลาเท่าใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาและแสดงหลักฐานต่าง ๆ ประกอบข้อเท็จจริงในฟ้องได้ หาทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยยังติดค้างหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินยังไม่รวมดอกเบี้ยจำนวน 2,703,000 บาทเศษ แม้จำเลยจะยังโต้เถียงอยู่ว่าโจทก์คำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
โจทก์ขอแก้ไขจำนวนหนี้ในฟ้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเมื่อแก้แล้วจำนวนหนี้โดยเฉพาะต้นเงินก็ยังไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ตามเดิมและในเรื่องนี้ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไว้เพียงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในต้นเงินไม่น้อยกว่า500,000 บาท โดยมิได้ชี้ชัดในชั้นนี้ว่ายอดหนี้ทั้งหมดที่ถูกต้องเป็นเท่าใด เพราะจะต้องไปว่ากันในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่แล้ว ฉะนั้นฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเป็นการไม่ชอบ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยคงมีแต่พยานบุคคลมาสืบต่อสู้ว่าชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้อ้างอิงพยานเอกสารแสดงถึงการชำระหนี้ หากให้จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบอีกในประเด็นนี้ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานบุคคลของจำเลยที่จะนำสืบในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในหนี้จากการรับรองของคู่ความร่วมที่เสื่อมเสีย การพิสูจน์หนี้ที่ถูกต้อง
เมื่อเอกสารหลักฐานการซื้อสินค้าและใช้บริการไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหรือร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ที่ศาลอุทธรณ์ฟังคำแถลงรับของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำแถลงที่เสื่อมเสียแก่จำเลยที่ 1แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมชำระหนี้ โดยโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง จึงไม่ชอบเพราะกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 2 กระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความร่วม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หนี้และการสันนิษฐานลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อการฟ้องล้มละลาย
แม้จำเลยจะโต้แย้งยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นภายหลังวันที่ 4 เมษายน 2528 แต่จำเลยก็ยอมรับว่าในวันที่ 4 เมษายน 2528 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 208,061.38 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (2)(3)
โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ ได้ตรวจสอบทะเบียนบ้านตามที่จำเลยแจ้งตอนยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากก็ไม่ปรากฏชื่อจำเลยอยู่ในทะเบียนบ้าน จึงได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้รวมสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้จำเลยอ้างว่าไม่ทราบการทวงถามก็ถือได้ว่าจำเลยไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่เพื่อประวิงการชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) ข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2533 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ล้มละลายต้องมีจำนวนแน่นอน การฟ้องขอให้ล้มละลายต้องพิสูจน์ได้ว่าหนี้มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้
การพิจารณาคดีล้มละลายต้องได้ความจริงตามมาตรา 9 ศาลจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ดังนั้น แม้คู่ความมิได้โต้เถียงเรื่องหนี้ที่โจทก์ฟ้องกำหนดจำนวนแน่นอนได้หรือไม่ก็ตาม ศาลย่อมยกเรื่องดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเป็นมูลหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนเพราะผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเลิกกัน โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องยนต์เรือและมีสิทธิติดตามเอาคืน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคา เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังครอบครองและใช้ประโยชน์เครื่องยนต์เรือดังกล่าวอยู่ และอยู่ในสภาพที่สามารถบังคับให้จำเลยคืนเครื่องยนต์เรือได้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าได้ติดตามเพื่อยึดเครื่องยนต์เรือคืน แต่จำเลยมีเรือหลายลำไม่ทราบว่าอยู่ในเรือลำใด จึงไม่สามารถยึดคืนได้ ก็หาใช่ว่าการคืนเครื่องยนต์เรือไม่สามารถกระทำได้จนต้องบังคับให้ใช้ราคาแทนอย่างเดียวไม่ โจทก์ย่อมฟ้องร้องโดยอาศัยอำนาจศาลบังคับให้จำเลยคืนเครื่องยนต์เรือได้ และหากบังคับได้เช่นนี้หนี้ค่าเครื่องยนต์เรือก็ไม่ใช่หนี้ที่จะบังคับเอาแก่จำเลยได้อีก ทั้งฟ้องโจทก์ไม่มีหนี้จำนวนอื่นคงมีแต่เครื่องยนต์เรือเท่านั้น เมื่อหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ จึงไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบเครื่องยนต์เรือจะมีหรือไม่ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้
of 4