คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พ.ร.บ.ข้อสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อข้อไม่เป็นธรรม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ย้อนหลังบังคับกับสัญญาก่อนมีผลบังคับใช้
จำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ที่ระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิก ผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่ผู้เช่าซื้อจนครบถ้วน เป็นสัญญาที่เข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จึงน่าจะถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทำให้เช็คที่โจทก์ฟ้องไม่มีมูลหนี้ต่อกันนั้น แม้จะปรากฏว่าประเด็นข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึง รับวินิจฉัยให้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"ดังนั้นบรรดานิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ สัญญาเช่าซื้อทำขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2538 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มีผลใช้บังคับ จึงนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่สัญญาเช่าซื้อหาได้ไม่ สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แม้จะแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคสอง แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายจึงมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้ เช็คที่จำเลย สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญา จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10300/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การบอกเลิกสัญญาผู้จำหน่ายโดยอาศัยข้อตกลงบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ แต่ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งให้งดการชี้สองสถาน และให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยต่อไป จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาถามค้านพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบและนำสืบพยานจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ และถือได้ว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอุทธรณ์ได้อีก เพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
การวินิจฉัยปัญหาว่าสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น เมื่อสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮ. ระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และสัญญาดังกล่าว ข้อ 8.1 ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่าย สัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การพิสูจน์เหตุบอกเลิกสัญญา
สัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ข้อ 11.3 กำหนดเพียงว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ โดยการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า 90 วัน และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับการบอกกล่าวแล้วเท่านั้น หาได้กำหนดเงื่อนไขหรือเหตุที่จะทำให้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใดไม่ และข้อ 11.2 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกับตามสัญญาข้อ 11.3 เหมือนกัน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 หรือไม่ ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์หรือไม่ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลยแต่อย่างใด ถือว่าการเข้าทำสัญญากับจำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ทั้งว่าจำเลยก็ได้นำสืบถึงสาเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญา จะถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือบอกเลิกสัญญาโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการผิดสัญญาหรือผิดข้อตกลงตามสัญญาไม่ได้ ข้อตกลงข้อ 11.3 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ 9 ข้อ โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนและเป็นการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างตลอดไปตรวจที่ยังคงทำงานกับโจทก์หรือมีหนี้สินค้างชำระ ก็เป็นเงื่อนไขทั่วไปตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนในข้อ 6 ระบุให้ผู้ค้ำประกันไม่ยกข้อต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นความรับผิดกรณีที่โจทก์กระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเรื่องจำนอง จำนำ บุริมสิทธิ ดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 697 หรือสละสิทธิในการยกอายุความขึ้นต่อสู้ ก็เป็นการทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันคดีนี้มิได้มีส่วนเกี่ยวกับสัญญาในข้อ 6 ส่วนสัญญาข้ออื่นนอกจากนี้มิได้มีผลให้จำเลยที่ 2 รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตามสัญญาข้ออื่นก็เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาค้ำประกันที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การรับผิดเหมือนลูกหนี้ร่วมไม่ถือเป็นภาระเกินวิญญูชน
การที่จะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่งหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบบริโภค หรือคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อสัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตราดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงมิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แม้อุทธรณ์ข้อนี้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสองประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31