คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือน/บำนาญข้าราชการ: กฎหมายพิเศษ (พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494) ใช้บังคับ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ รายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทยข้อ 17 และ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) ย่อมเห็นได้ว่า การคำนวณเงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีสิทธินับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) แต่ผู้มีสิทธินับเอาประโยชน์จากเวลาทำงานช่วงหลังที่กลับเข้าทำงานใหม่ไปรวมกับเวลาทำงานช่วงแรกตามมาตรา 30(จ) ได้จะต้องเป็นผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติอยู่แล้วเมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับ เงินสงเคราะห์รายเดือนโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30(จ) เงินสงเคราะห์รายเดือนดังกล่าวจึงมีสภาพ เช่นเดียวกับเงินบำนาญปกตินั่นเอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(4)บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินบำนาญ มีกำหนดอายุความ 5 ปีแต่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 10 บัญญัติให้สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความ 3 ปี และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงให้นำอายุความตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับ โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุตั้งแต่วันที่30 กันยายน 2536 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จึงมิได้ฟ้องเรียกเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญปกติเฉพาะส่วนที่อ้างว่าขาดภายในกำหนด 3 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2530 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำนาญพิเศษของบุตรที่ได้รับการรับรองโดยคำพิพากษาศาลภายหลัง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2526
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ.2526 โดยทั่วไปมิได้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง แต่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงมีผลย้อนหลังเฉพาะกรณีตามมาตรา 9 ในเรื่องการให้รวมเงินพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเข้ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญเท่านั้น
ตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ.2526 บุตรซึ่งมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำนาญพิเศษในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อพระราชบัญญัตินี้ให้บังคับแล้ว
ขณะโจทก์เรียกร้องบำนาญพิเศษจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ.2526 ใช้บังคับและโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2526 และสิทธิบำนาญพิเศษของบุตรที่ศาลมีคำพิพากษา
เงินเพิ่มพิเศษมีผลใช้บังคับในการรวมเป็นเงินเดือนสุดท้ายตามพ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2526 มาตรา 9มีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษพ.ศ. 2521 มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวต้องตีความว่า บุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก่อนวันที่พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำนาญพิเศษในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้วกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2516 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จตกทอด: บุตรที่บิดารับรอง ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ
สิทธิในบำเหน็จตกทอดไม่ใช่มรดกของผู้ตาย
คำว่า บุตร ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2500 หมายความถึงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหาใช่บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองไม่
บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว.ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
ผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตาย มีสิทธิในบำเหน็จตกทอดต่อเมื่อ ไม่มีทายาทดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43(1) (2) และ (3)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13797/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และข้อบังคับขององค์กร จำเลยไม่มีหน้าที่จ่ายหากไม่แก้ไขข้อบังคับ
การสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 และข้อ 17 ระบุให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน กรณีที่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดจะจ่ายเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับความตายของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และตัวผู้รับเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่บำเหน็จดำรงชีพตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3, 4 และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1, 49 วรรคสอง เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว เมื่อผู้รับบำนาญที่รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วถึงแก่ความตาย การจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทให้หักเงินที่จะได้รับเท่ากับบำเหน็จดำรงชีพออกจากบำเหน็จตกทอดเสียก่อน บำเหน็จดำรงชีพจึงไม่ใช่บำเหน็จตกทอดตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติสำหรับกรณีผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายให้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 48 บำเหน็จดำรงชีพจึงแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเอง แต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จำเลยจะต้องจ่ายตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 จึงมีหลักเกณฑ์การจ่ายโดยอนุโลมเช่นเดียวกับการจ่ายบำเหน็จตกทอด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ให้มีการจ่ายเงินในลักษณะเดียวกับการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 คือจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในขณะที่ยังมีชีวิต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์