คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พ.ร.บ.ภาพยนตร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2481

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ฉายเฉพาะเสียง ศาลยังลงโทษได้ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์
เอาภาพยนตร์ที่ยังมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน+ฉายถ่ายทอดเสียงออกจากฟิลม์โดยมีแต่เสียงฝ่ายเดียวไม่มีภาพยนตร์แล้ว ต้องความผิด ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.158,192,218 โจทก์ระบุในฟ้องว่าจำเลยฉายภาพยนตร์เป็นความผิดเมื่อทางพิจารณาปรากฎว่าจำเลยฉายภาพยนตร์จริง แม้จะแตกต่างกันในเรื่องฉายให้ดูหรือให้ฟังอันเป็นรายละเอียดส่วนย่อยดังนี้ ก็ลงโทษจำเลยได้ไม่ต้องด้วย ม.192 แห่งประมวลวิธีพิจารณาอาญา ฎีกาอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกอบกิจการร้านเพลงคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ถือเป็นความผิด
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ร้านวีดิทัศน์" หมายความว่าสถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบกิจการให้บริการร้านเพลงคาราโอเกะอันเป็นร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้าน ค. และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการเพลงคาราโอเกะดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคสี่ ที่ว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น ไม่นำมาใช้กับคดีนี้เพราะไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องส่วนใดที่ระบุว่าร้านอาหาร ค. ของจำเลยกับพวกเป็นร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14325/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ขออนุญาต และการลงโทษปรับรายวันตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
แม้กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 กันยายน 2552 อันมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป แสดงว่าก่อนหน้าวันที่ 29 กันยายน 2552 นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้ แต่ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 บทเฉพาะกาล มาตรา 90 บัญญัติว่า "ผู้ใดประกอบกิจการโรงภาพยนตร์หรือร้านวีดิทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและเมื่อยื่นคำขอแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากนายทะเบียน" ดังนี้ จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ จำเลยต้องยื่นคำขอใบอนุญาตจากนายทะเบียน มิฉะนั้นย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 53 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างว่าประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นเวลาก่อนหน้าที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวประกาศใช้ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ตามกฎหมายจากนายทะเบียนหาได้ไม่
จำเลยเปิดร้านเกมและบริการอินเทอร์เน็ตในระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่นโดยทำเป็นธุรกิจและรับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีคำขอให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2552 เป็นคำขอโดยอาศัยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 วรรคหนึ่ง...ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่" ความผิดฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดจากการตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยไม่ได้รับอนุญาตในแต่ละครั้งแต่ละคราว เมื่อหยุดประกอบกิจการแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุชัดว่าจำเลย กระทำความผิดเฉพาะวันที่ 4 เมษายน 2552 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ในคำบรรยายฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำความผิดต่อเนื่องออกไปอีก หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ตามฟ้องต่อไป เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใดให้โจทก์ยืนยันในคำฟ้องได้ว่าจำเลยยังคงกระทำความผิดต่อเนื่องออกไปอีก จึงไม่อาจลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการกระทำผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ การค้าเพื่อผลกำไร vs. การหาเงินจุนเจือครอบครัว
การที่จำเลยนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางซึ่งเป็นของเก่า และมีจำนวนเล็กน้อยเพียง 27 แผ่น ออกมาวางจำหน่ายในร้านแผงลอยปะปนกับสินค้าอื่นอย่างเปิดเผยในราคาที่ต่ำกว่าทุนมาก มิได้มีลักษณะของการค้าเพื่อการแสวงหาผลกำไร จึงมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า การนำเอาแผ่นซีดีภาพยนตร์เก่าออกมาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าว มิใช่เป็นการประกอบกิจการในการจำหน่ายภาพยนตร์ซึ่งต้องได้รับอนุญาตนั่นเอง เพราะไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องมาสุ่มเสี่ยงต่อโทษปรับในอัตราที่สูงเพียงการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยมากเช่นนี้ ตามสภาพและพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ชอบที่ศาลฎีกาจะยกฟ้องโจทก์เสียได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22173/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ การจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ยังไม่มีผู้ซื้อก็เป็นความผิดสำเร็จ
องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง คือ การนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร จำเลยนำแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ แผ่นวีซีดีและดีวีดีคาราโอเกะของกลาง ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกจำหน่ายโดยวางแผงขายให้แก่ประชาชนทั่วไป แม้จำเลยจะยังไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนคนหนึ่งคนใดก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3469/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สถานะจำเลยเป็นลูกจ้างหรือไม่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ศาลต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลย มิใช่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยตามฟ้อง ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการที่ต้องไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงชอบที่ศาลจะแจ้งรายงานดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทราบแล้วสอบข้อเท็จจริงจากจำเลย รวมทั้งอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลยในข้อหานี้ใหม่ หากจำเลยยืนยันว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ก็มีสิทธิขอนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมหรือศาลจะสั่งให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหานี้เพื่อให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนหรือไม่ก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 และมาตรา 228 แต่หากจำเลยขอถอนการให้ถ้อยคำในส่วนของการเป็นลูกจ้างและยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงยุติตามฟ้องโจทก์ได้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้สอบโจทก์และจำเลยถึงข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าว กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในความผิดข้อหานี้หรือไม่ จึงยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดนี้ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สอบคำให้การจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าว และสอบโจทก์เกี่ยวกับการสืบพยานโจทก์ในข้อหาความผิดนี้แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างพิจารณาคดี และหลักการใช้กฎหมายที่คุ้มครองจำเลยมากที่สุดในคดีจำหน่ายวีซีดีผิดกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3(4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีเกมซึ่งบันทึกภาพและเสียงอันเข้าลักษณะเป็นวีดิทัศน์ตามบทนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายใหม่ จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว
ในส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดี ตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายเก่าเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายเก่าบังคับแก่จำเลยปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10458/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจาก พ.ร.บ.เทป/วีดีโอ เป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และการใช้บทกฎหมายเดิมบังคับใช้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ออกใช้บังคับให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ ทั้งฉบับ แต่การที่จำเลยให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวิดีโอซีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเข้าลักษณะเป็นการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ กรณีไม่อาจถือได้ว่ามีการยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย ส่วนแผ่นวิดีโอซีดีเพลง แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวิดีโอซีดีนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้โดยไม่ปรากฏว่าเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องอันเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ หรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งกฎหมายเดียวกัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยในส่วนนี้ ซึ่งเดิมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โทษปรับตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 79 มีระวางโทษหนักกว่าจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ปรับจำเลย 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 3,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 39(4) จำเลยอุทธรณ์เรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5473/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จำหน่ายดีวีดีที่ไม่ใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ หากไม่ได้นำภาพยนตร์ไปตรวจพิจารณา
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 การประกอบกิจการภาพยนตร์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรา 20 ถึงมาตรา 24 ที่บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ มาตรา 26 ถึงมาตรา 29 บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 ดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาความผิดแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 25 ซึ่งหมายความเฉพาะผู้สร้างภาพยนตร์ที่นำภาพยนตร์นั้นออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร โดยมิได้นำไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่ประสงค์จะเอาความผิดแก่ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ทั่วไปที่มิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ เมื่อฟ้องโจทก์ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยจำเลยมิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีหน้าที่จะต้องนำภาพยนตร์นั้นไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 25 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 78
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านคาราโอเกะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
โจทก์มี ส. และ ม. เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ยืนยันว่าร้าน บ. ซึ่งเป็นร้านคาราโอเกะมีการให้บริการร้องคาราโอเกะเป็นห้องส่วนตัว ในห้องดังกล่าวมีอุปกรณ์สำหรับร้องเพลงคาราโอเกะ ได้แก่ จอโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมซีพียู แป้นพิมพ์ ลำโพง ไมโครโฟน ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่าย โดยในภาพถ่ายยังปรากฎหน้าจอโทรทัศน์ที่มีชื่อเพลง มิวสิควีดิโอคาราโอเกะเพลง และเนื้อเพลง และสอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงที่บันทึกในแผ่นดีวีดี ซึ่งมีภาพพนักงานจำเลยกำลังช่วยแกะสายไมโครโฟนให้แก่ ส. และ ม. เพื่อร้องเพลงคาราโอเกะ บนจอโทรทัศน์ก็ปรากฏภาพเคลื่อนไหวเป็นมิวสิควีดิโอคาราโอเกะด้วย โดยไม่ปรากฎว่าพนักงานจำเลยทักท้วงว่ามิวสิควีดิโอคาราโอเกะที่ ส. และ ม. กำลังร้องอยู่นั้นไม่ใช่มิวสิควีดิโอคาราโอเกะของร้านแต่อย่างใด ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่า ร้าน บ. ของจำเลยมีการให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะ โดยจัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะคาราโอเกะที่มีภาพประกอบ อันเป็นการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ตามคำนิยามของคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำเลยจึงประกอบกิจการวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53