พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5481/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงโทษปรับในความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือฯ ต้องคำนวณตามพื้นที่และลงโทษเรียงรายบุคคล
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117... ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ผู้กระทำความผิดฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด เมื่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำบทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 โดยลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6972/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปลูกสร้างสิ่งล้ำน้ำและการลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.เดินเรือฯ ศาลฎีกายืนโทษปรับและคำสั่งรื้อถอน
ความผิดตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456มาตรา 117ต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 118 โดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาทจำเลยปลูกสร้างอาคารเป็นสะพานทางเดินและทำเป็นศาลาท่าน้ำล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำในน้ำ ของทะเลสาบเป็นเนื้อที่ 143.32 ตารางเมตร การที่ศาลล่างลงโทษปรับจำเลย 214,980 บาท เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้งคงปรับ 107,490 บาทเป็นการปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ตารางเมตรละ 1,500 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มาตรา 118 ทวิ ที่แก้ไขแล้วเป็นการกำหนดวิธีการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่ปลูกสร้างขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าเจ้าท่ามีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งปลูกสร้างแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดค่าเสียหายที่ไม่ชัดเจนในคดีความผิดตามพ.ร.บ.เดินเรือ ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกการชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมเจ้าท่า
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ.2456โดยมิได้บรรยายฟ้องว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษเป็นจำนวนเท่าไรอีกทั้งมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสิ่งที่เป็นพิษเป็นจำนวนเท่าใดจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่กรมเจ้าท่าได้การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมเจ้าท่าจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281-1282/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางอาญาจากการใช้เรือโดยประมาทและลักษณะไม่ปลอดภัย, การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือ และประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยที่2ถึงที่4ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยวโดยจำเลยที่2มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือของกลางและเรือลำที่เกิดพลิกคว่ำจำเลยที่3มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อจดทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือจำเลยที่4มีหน้าที่ในการออกแบบและต่อเติมเรือทั้งสองลำให้เป็นสองชั้นและได้จ้างจำเลยที่1ขับเรือของกลางซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83 องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา233ที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะไม่ใช่ผลของการกระทำจำเลยใช้เรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นแม้ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7497-7502/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลแขวงจำกัดในคดีปรับสูงจาก พ.ร.บ.เดินเรือฯ ศาลจังหวัดพัทยารับฟ้องชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117... ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท ประกอบกับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตามฟ้องทั้งหกสำนวนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในสำนวนที่หนึ่งและที่สองคิดเป็นเนื้อที่ 962 ตารางเมตร และ 210 ตารางเมตร จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในสำนวนที่สามคิดเป็นเนื้อที่ 342 ตารางเมตร จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในสำนวนที่สี่คิดเป็นเนื้อที่ 399 ตารางเมตร จำเลยที่ 4 กระทำความผิดในสำนวนที่ห้าคิดเป็นเนื้อที่ 418.20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 5 กระทำความผิดในสำนวนที่หกคิดเป็นเนื้อที่ 1,251.05 ตารางเมตร ดังนี้จำเลยที่ 1 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 9,620,000 บาท และ 2,100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 3,420,000 บาท, 3,990,000 บาท, 4,182,000 บาท และ 12,510,500 บาท ตามลำดับ จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับเกินอำนาจของศาลแขวงพัทยา เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดฐานอื่นตามฟ้องทั้งหกสำนวนของโจทก์จะอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพัทยา แต่ปรากฏว่าคดีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ทั้งหกสำนวนไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งหกสำนวนนี้ต่อศาลจังหวัดพัทยา และศาลจังหวัดพัทยาใช้ดุลพินิจรับฟ้องคดีทั้งหกสำนวนไว้พิจารณาและพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 ที่เพิ่มเติมใหม่ จึงชอบแล้ว