คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคัดค้าน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5196/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำวินิจฉัย คชก.จังหวัด และผลผูกพันทางกฎหมาย หากไม่ฟ้องคัดค้านคำวินิจฉัยย่อมมีผลบังคับใช้
ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524มาตรา 57 คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด จะต้องฟ้องเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด เพราะตราบใดคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดยังไม่ถูกเพิกถอน ต้องถือว่าคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดยังมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และหากไม่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดภายในกำหนดเวลา คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 57 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 56 วรรคสอง การฟ้องขอให้เพิกถอนมติของ คชก.จังหวัดจึงต้องฟ้องผู้ออกมติก็คือ คชก.จังหวัดนั้นเอง เพื่อให้ คชก.จังหวัดได้มีโอกาสเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของผู้ฟ้องขอให้เพิกถอนมติ นอกจากนี้ มาตรา 58 วรรคสอง กำหนดให้คชก.จังหวัดมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของ คชก.จังหวัดได้ ดังนั้น คชก.จังหวัดจึงเป็นองค์กรฝ่ายปกครองที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินคดีในศาลได้ คชก.จังหวัดจึงอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องได้ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้อง คชก.จังหวัดเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด คำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดจึงยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าทำนา ให้ขายที่ดินแก่โจทก์อันแตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2516

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีและการฟ้องคัดค้านการประเมิน: การชำระภาษีหลังได้รับคำชี้ขาดไม่ตัดสิทธิในการฟ้อง
มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475ที่บัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีแก่กรมการอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งทรัพย์นั้นตั้งอยู่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินนั้น เป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมินจะไปชำระได้ที่ไหนเมื่อใดเท่านั้นหาใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดว่าจะต้องชำระค่าภาษีตามการประเมินเบื้องต้นเสมอไป เพราะตามมาตรา 25 และมาตรา 26 บัญญัติให้โอกาสแก่ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจการประเมินเบื้องต้นร้องขอไปยังผู้มีอำนาจชี้ขาดการประเมินได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินเพื่อให้มีการพิจารณาการประเมินนั้นใหม่ ทั้งค่าภาษีที่มิได้ชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 38 นั้น ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นเงินค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่มตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 และอาจถูกบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยพนักงานเก็บภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ต่อไปด้วย การไม่ชำระภาษีตามมาตรา 38 กฎหมายมิได้ถือเป็นการตัดสิทธิผู้รับประเมินในการฟ้องร้องคดีเพื่อโต้แย้งการประเมินภาษีแต่ประการใด
วันที่ 5 สิงหาคม 2508 โจทก์ได้รับใบแจ้งการประเมินภาษีจากจำเลยให้นำค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไปชำระให้จำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม2512 โจทก์ได้รับคำชี้ขาดจากจำเลยให้โจทก์เสียภาษีเท่าที่ประเมินไว้เดิมโจทก์จึงนำภาษีกับเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบไปชำระให้จำเลยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 แล้ววันรุ่งขึ้นโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อแสดงว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้อง ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 31 เพราะโจทก์ได้ฟ้องภายใน 30 วันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดและฟ้องของโจทก์ไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามมาตรา 39 เพราะก่อนฟ้องโจทก์ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ไม่จำต้องคำนึงว่าหนี้ค่าภาษีถึงกำหนดชำระหรือเลยกำหนดชำระขณะฟ้องหรือยัง
จำเลยประเมินภาษีจากรายได้ค่าเช่าห้องพักตามแบบ ภ.ร.ด.2ของโจทก์ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับประเมินจะต้องกรอกรายการตามความเป็นจริง ตามความในมาตรา 20 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้สั่งการให้แก้ไขรายการเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่าเป็นจำนวนค่าเช่าสุทธิสำหรับการประเมินภาษีเพราะตามมาตรา 8 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าท่านว่า ค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอลดค่าภาษี ลงโดยอาศัยเทียบเคียงเสมอกับโรงแรมอื่นแต่อย่างใดจะฟังว่าการประเมินภาษีของจำเลยไม่เป็นการถูกต้องหาได้ไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะตัดสินลดภาษีให้โจทก์ได้ (ฟ้องต้องห้ามตามมาตรา 39 หรือไม่วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2516)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2515

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ฟ้องคดีที่ส่งเสริมการขายทรัพย์สินตามพินัยกรรมแล้วกลับฟ้องคัดค้านการแบ่งเงิน
พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชมีผลเด็ดขาดเป็นกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนพระบรมราชโองการดังกล่าวก็ยังมีผลอยู่ กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันหาลบล้างพระบรมราชโองการนั้นไม่
พินัยกรรมซึ่งพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชได้มีพระบรมราชโองการสลักหลังให้ใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมาย ย่อมมีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นได้ตลอดมา ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าพินัยกรรมนั้นจะมีข้อกำหนดที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เพราะศาลจะพิพากษาให้ผิดไปจากพินัยกรรมนั้นไม่ได้
การที่โจทก์ได้ร่วมรู้เห็นยินยอมให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินตามพินัยกรรมเพื่อนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท โดยโจทก์ยอมรับเอาเงินส่วนแบ่งเช่นเดียวกับทายาทอื่น และโจทก์เองเป็นผู้วิ่งเต้นขอปลดเปลื้องข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมที่ห้ามขายที่ดินนั้นเพื่อรับประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษนอกเหนือจากส่วนแบ่งและยังอาศัยเป็นเครื่องมือเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ซื้อที่ดินจนได้รับผลสมประสงค์ แล้วโจทก์กลับมาฟ้องขอให้ห้ามผู้จัดการมรดกแบ่งเงินแก่ทายาท แต่ให้นำเงินไปซื้อที่ดินอื่นแทนตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เป็นการอาศัยศาลกลั่นแกล้งผู้จัดการมรดกและทายาทอื่นให้เดือดร้อนเสียหายถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2505

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคัดค้านการจัดประเภทสินค้าเพื่อเสียภาษี โดยยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี
โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์ได้สั่งสินค้าเครื่องอัดสำเนา'เทอร์โมแฟกส์' จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายโดยโจทก์เห็นว่ามิใช่เครื่องถ่ายภาพหรือเอกสารอันต้องเสียภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ตามกฎหมาย โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามไปยังกรมสรรพากร จำเลยๆ ได้แจ้งมายังโจทก์ว่าเครื่องอัดสำเนาดังกล่าวเป็นโภคภัณฑ์ประเภทที่ 5(ข) ซึ่งต้องเสียภาษีโภคภัณฑ์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์ได้มีหนังสือทักท้วงจำเลยไปหลายครั้ง จำเลยก็คงยืนยันความเห็นเดิมโจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าเครื่องอัดสำเนาดังกล่าวไม่ใช่โภคภัณฑ์อันจะต้องเสียภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ตามประมวลรัษฎากรดังนี้ ถือว่า ฟ้องเช่นนี้ไม่ได้ว่ามีมูลโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพราะจำเลยยังมิได้เรียกเก็บหรือสั่งให้โจทก์เสียภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2477

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าภาษีโรงเรือนโดยเทียบเคียงกับห้องใกล้เคียง และสิทธิในการฟ้องคัดค้านคำประเมิน
การคำนวณค่าภาษีโรงเรือนโดยอาศัยคิดเทียบกับห้องที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเป็นปัญหาว่าจะเป็นการสมควรเพียงไรนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง คำตัดสินของอธิบดีสรรพากรเป็นเด็ดขาดนำคดีสู่ศาลไม่ได้ในเรื่องทรัพย์สินวางหรือชำรุดซึ่งเจ้าของขอลดหรือปลดค่าภาษี แต่ในเรื่องตั้งเกณฑ์ประเมินค่ารายปี เจ้าของย่อมนำคดีสู่ศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2473

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อฝากจากผู้ไม่มีสิทธิ + เจ้าของไม่ฟ้องคัดค้านในเวลาที่กำหนด = ผู้รับซื้อฝากไม่มีสิทธิในที่ดิน
ที่ดิน ขับไล่ สัญญารับซื้อฝากจากผู้ไม่ใช่เจ้าของโดยรู้แล้วแม้สัญญาซื้อฝากจะทำเป็นกรมธรรมและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเจ้าของอันแท้จริงจะมิได้ฟ้องร้องตามที่เจ้าพนักงานสั่งในเวลาที่ซื้อขายฝากก็ดี ผู้รับซื้อฝากไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9542/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคัดค้านคำสั่งไม่ขยายเวลาอุทธรณ์ภาษีอากรภายใน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เรื่องอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินไว้ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งไม่ขยายเวลาการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยตาม มาตรา 3 อัฏฐ แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย" เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตอนท้ายมีหมายเหตุระบุว่า หากท่านประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำวินิจฉัยนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง... ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ยืนตามคำสั่งที่ไม่อนุมัติให้โจทก์ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่ 2 มีนาคม 2553 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลาตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีหลังพ้นกำหนดไม่เป็นอุปสรรคการฟ้องคัดค้านการประเมินภาษี และการตีความ 'ค่าภาษีทั้งสิ้น'
เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงจากมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว คำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามมาตรา 39 ให้หมายความถึงค่าภาษีซึ่งถึงกำหนดชำระและค่าภาษีที่มีสิทธิผ่อนชำระ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติเรื่อง "ค่าภาษี" ไว้ในหมวด 2 การเก็บภาษี ซึ่งเป็นเรื่องภาษีตามการประเมิน ส่วนคำว่า "เงินเพิ่ม" ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 ค่าภาษีค้าง ในมาตรา 42 ถึงมาตรา 44 แยกกันต่างหาก โดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดหรือนิยามคำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามความหมายบทบัญญัติแห่งมาตรา 39 ให้รวมถึงเงินเพิ่มด้วย จึงไม่อาจตีความว่าก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลผู้รับประเมินต้องชำระเงินเพิ่มอันเป็นภาษีอากรค้างด้วย ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายอื่น หากต้องการให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินค่าภาษีจะต้องมีบทบัญญัติไว้ชัดเจน อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นออกคำสั่งยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย แสดงว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการให้แยกคำว่า "ค่าภาษี" ซึ่งเป็นค่าภาษีตามการประเมินในหมวด 2 กับคำว่า "เงินเพิ่ม" ในหมวด 3 ออกจากกัน ดังนั้น ค่าภาษีทั้งสิ้นตามความมุ่งหมายในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงไม่อาจรวมถึงเงินเพิ่มอันเกิดจากการมิได้ชำระค่าภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
สิทธิฟ้องร้องคัดค้านการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินคงขึ้นอยู่กับความในมาตรา 31 กับมาตรา 39 เท่านั้น การชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมินจะไปชำระค่าภาษีได้ที่ใดและเมื่อใด เป็นเรื่องของการเก็บภาษีในกรณีธรรมดาทั่วไป ซึ่งหากมิได้ชำระภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 38 ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งอาจถูกบังคับคดียึดอายัดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 และมาตรา 44 ต่อไปด้วย อันเป็นคนละเรื่องกับสิทธิในการฟ้องคดี การไม่ชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 จึงไม่ได้เป็นสาระสำคัญหรือเงื่อนไขในการฟ้องคดี เพราะหากเป็นกรณีพ้นกำหนดเวลาชำระค่าภาษีไปแล้ว ขณะฟ้องก็ต้องชำระค่าภาษีเสียก่อนฟ้องเช่นเดียวกัน
โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) ประจำปีภาษี 2560 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เป็นค่าภาษีจำนวน 1,092,823.25 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ (ภ.ร.ด.9) ซึ่งจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดตามการประเมินให้ชำระค่าภาษีจำนวน 1,092,823 บาท โจทก์ทราบคำชี้ขาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 1,092,823 บาท ตามที่ได้ระบุไว้ในใบแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องคดี แม้โจทก์จะไม่ได้ชำระเงินเพิ่มในวันดังกล่าว ก็ย่อมถือว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีครบถ้วนตามคำชี้ขาดอันเป็นค่าภาษีทั้งสิ้นตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง