คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค, ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย, ข้อเท็จจริงต่างกันไม่ถึงยกฟ้อง, เจตนาออกเช็ค
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อเสาเข็มของโจทก์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าอ. เป็นผู้สั่งซื้อ แต่การที่จำเลยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาเสาเข็มแก่โจทก์หรือไม่ มิได้อยู่ที่ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อเสาเข็มหรือไม่ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเช่นนี้จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธลอยและมิได้นำสืบต่อสู้เฉพาะในข้อเท็จจริงนี้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงที่แตกต่างดังกล่าวมิได้เป็นเหตุถึงกับจะต้องยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 497/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ้างวานเบิกความเท็จทำให้เสียกรรมสิทธิ์ ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องและฟ้องชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยเป็นผู้ใช้ให้ พ. ไปร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและเบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง จนศาลชั้นต้นเชื่อและมีคำสั่งให้ พ. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโจทก์ทั้งสามในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยย่อมได้รับผลกระทบกระเทือนเสื่อมเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)และมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ พ. ไปยื่นคำร้องและเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ประกอบด้วยมาตรา 177 มิได้ฟ้องจำเลยว่าเป็นผู้เบิกความเท็จ จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 เมื่อฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานะเป็นผู้ใช้พอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงิน: ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย, อายุความ 10 ปี, ดอกเบี้ยตามสัญญา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกตั๋วแลกเงินแล้วนำไปขายลดไว้แก่โจทก์โจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินไม่ได้ ขอให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วแลกเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีตามที่ได้ตกลงกันไว้ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและท้ายฟ้องของโจทก์ยังได้แนบสำเนาสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินมาด้วย แม้โจทก์ไม่บรรยายว่าฟ้องเรียกเงินตามตั๋วแลกเงินหรือตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน ฟ้องโจทก์ก็แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและขอให้บังคับตามสัญญา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้มอบอำนาจให้ ก. ผู้จัดการสาขาธนาคารโจทก์ซื้อขายลดตั๋วเงินแทนโจทก์ แต่โจทก์ก็มอบอำนาจให้ ก. ฟ้องคดีเกี่ยวกับการรับซื้อลดตั๋วเงินดังกล่าว ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การซื้อขายลดตั๋วเงินนั้นแล้ว โจทก์ฟ้องบังคับฐานผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน ไม่ใช่ฟ้องบังคับตามตั๋วแลกเงิน จึงไม่จำต้องบอกกล่าวการไม่ใช้เงินไปยังจำเลยภายใน 4 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 963 และดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามอัตราที่ตกลงกันไว้ มิใช่อัตราร้อยละ 5 ต่อปีตามมาตรา 968(2) ทั้งสัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจดุลพินิจศาลในการริบของกลางตาม พ.ร.บ.การประมง และการวินิจฉัยฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 69 ที่กำหนดว่าสิ่งของที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำผิด ศาลจะริบเสียก็ได้ เป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะเรือของกลางที่ศาลชั้นต้นให้ริบเป็นไม่ริบก็เป็นการใช้ดุลพินิจและเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตา โดยมิได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยโจทก์แนบประกาศกระทรวงดังกล่าวมาท้ายฟ้องด้วย ประกาศที่แนบมาท้ายฟ้องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ซึ่งตามประกาศดังกล่าว ยกเว้นให้ใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตาที่มีขนาดตาอวน 47 มิลลิเมตร(4.7 เซนติเมตร) หรือโตกว่า และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงไว้ชัดเจนแล้วรับฟังได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงขนาดตาอวนของกลางที่มีขนาดเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2506

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องคดีเช็ค: แม้พิมพ์ชื่อ พ.ร.บ. ผิดพลาด แต่ฟ้องยังชอบด้วยกฎหมาย หากแก้ไขได้โดยไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
หน้าฟ้องลงข้อหาว่า ผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้เช็คคำบรรยายฟ้องก็ชัดแจ้งว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินโดยมีเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค แต่ในช่องกฎหมายและบทมาตราที่โจทก์ถือว่าจำเลยกระทำความผิดนั้นลงไว้แต่เพียงว่า มาตรา 3(1)(3)(5) ดังนี้ เมื่อมีพฤติการณ์แสดงว่าน่าจะเนื่องจากความพลั้งเผลอ โจทก์จึงมิได้พิมพ์หรือเขียนชื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ลงข้างหน้ามาตรา และหากให้โจทก์ทำเสียให้ครบบริบูรณ์ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหายแล้ว ศาลย่อมสั่งให้โจทก์แก้ไขคำขอท้ายฟ้องให้ครบบริบูรณ์ (คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ แล้วแถลงข้อบกพร่องนี้ก่อนสืบพยานโจทก์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2503

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาโดยไม่ระบุประมาท แต่ศาลเข้าใจได้ว่าจำเลยประมาท ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย
บรรยายฟ้องว่าจำเลยสมคบกันใช้ไฟจุดเผาป่าในที่ดินของจำเลยเองแล้วไม่ระมัดระวังดูแลให้ดี ไฟได้ไหม้ลุกลามไปติดสวนของนางบุญ เป็นเหตุให้ต้นผลไม้ต่างๆ ของนางบุญ เสียหาย ดังนี้ ถึงแม้ในฟ้องไม่ได้ระบุว่าจำเลยกระทำโดยประมาท ก็พอเข้าใจได้ในตัวว่าจำเลยกระทำโดยประมาท เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2485

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุที่เกิดเหตุในฟ้องอาญา การเพิ่มเติมภายหลังไม่ทำให้ฟ้องไม่ชอบ
ฟ้องของโจทก์บรรยายความผิดเป็น 2 ข้อ โดยมิได้ระบุที่เกิดเหตุในฟ้องเหล่านั้น. แต่มาระบุที่เกิดเหตุในภายหลัง บรรยายฟ้องตามลำดับย่อมเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11153/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอน: ประเด็นฟ้องชอบด้วยกฎหมาย, อายุความ, และการปรับรายวัน
พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติความหมายคำว่า อาคาร ว่าให้หมายความรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของอาคาร และคำว่า ดัดแปลง ว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำการดัดแปลงอาคารตึกแถวจากเดิมซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ดัดแปลงเป็นอาคาร 5 ชั้น โดยทำการก่อสร้างเสาเหล็กขึ้นตามชั้นต่าง ๆ และทำการก่อสร้างพื้น ค.ส.ล. ในชั้นที่ 5 ด้วย อันเป็นการเพิ่มขยายขอบเขต รูปทรง น้ำหนัก ทำให้รูปแบบโครงสร้างของอาคารที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายให้กระทำได้ พร้อมทั้งอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ต่อเนื่องกันไปถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 จึงต้องเริ่มนับอายุความในวันที่ 12 มิถุนายน 2551 เมื่อนับถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 5 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร เมื่อครบ 60 วัน ตามคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อนับถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 5 ปี คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเช่นกัน