พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีภาษีขาดและเงินเพิ่ม การชำระภาษีเกินกำหนด และการนำรายรับไปยื่นเสียภาษีการค้า
ตามคำโต้แย้งหลายประการในคำอุทธรณ์ ของโจทก์ โจทก์ได้โต้แย้งว่า การประเมินของ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง โจทก์ ยินดีที่จะให้ปรับปรุงภาษีให้ถูกต้องและจะเสียเงิน เฉพาะส่วนที่เพิ่มจากผลต่างระหว่างภาษีการค้าและ ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเงินเพิ่มจนถึงวันที่โจทก์ได้ชำระเงิน เท่านั้นมิใช่จนถึงวันที่ถูกประเมิน ส่วนยอดภาษีบางยอด โจทก์ก็ยืนยันว่านำส่งถูกต้องแล้วเพียงแต่ล่าช้าไปเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการประเมินจากเจ้าพนักงานของ จำเลยที่ 1 ปรากฏว่ายอดเงินที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้ โจทก์ชำระไม่เป็นไปตามที่โจทก์อุทธรณ์จึงเห็นได้ว่าข้อโต้แย้ง ของโจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ อุทธรณ์วินิจฉัยแตกต่างจากการอุทธรณ์ของโจทก์ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ เกี่ยวกับการประเมินและโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้ง การประเมินไว้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ กรณีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21 นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ต้องเสียภาษีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 โดยไม่ยอมมาให้ไต่สวนหรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงหรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มาให้ไต่สวนและส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานมาแสดงเกือบครบถ้วนแล้ว การที่ศาลภาษีอากรรับฟังเอกสารใบแจ้งหนี้และใบลดหนี้ที่โจทก์นำส่งภายหลัง การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและหลังจาก การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว จึงมิได้ ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 21 ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 มาตรา 24 การขายสินค้าที่มีการขายเสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการที่สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 แม้จะมีการชำระค่าตอบแทนหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมมีสิทธินำรายรับ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนไปยื่นเสียภาษีการค้าได้ ดังนั้น การที่โจทก์นำรายรับดังกล่าวไปยื่นเสียภาษี การค้าไว้จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณี ที่สัญญาคาบเกี่ยวถึงปี 2535 นั้น เมื่อปรากฏว่า การให้บริการ แต่ละครั้งมีการรับค่าตอบแทนจากการให้บริการแยกได้ ชัดเจน จึงถือได้ว่าการให้บริการแต่ละครั้งสิ้นสุดในวันนั้น มิใช่ถือวันสิ้นสุดสัญญาเป็นหลัก ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 วรรคสาม การคำนวณ เงินเพิ่มกรณีไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนจะต้องเริ่มนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ดังนั้น การที่โจทก์ชำระภาษีในเดือนที่เหลื่อมไปจึงต้องคำนวณเงินเพิ่มจนถึงวันที่โจทก์ชำระภาษีนั้นมิใช่คำนวณถึงวันที่มีการประเมินภาษี