คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีส่วนท้องถิ่น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีส่วนท้องถิ่นจากการขายที่ดินในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาพิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112 (1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง การจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การค้าซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีการค้าตาม ป.รัษฎากร ความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สถานการค้าในเขตเทศบาลกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาล
ลูกหนี้ขายที่ดินไป 1 แปลง โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีสถานการค้า จึงต้องถือว่าบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหนี้เป็นสถานการค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 (เดิม) เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานคร ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น
ภาษีส่วนท้องถิ่นที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีอากรการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาท ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (6) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน 44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (8) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีส่วนท้องถิ่นจากการขายที่ดิน: การบังคับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามลำดับความสำคัญของกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ(มาตรา 112(1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องการจัดเก็บอากร และค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2)ฯ ข้อ 3บัญญัติว่า การค้า ซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10ของอัตราตามประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้สถานการค้าในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลเมื่อลูกหนี้ทั้งสองขายที่ดินไป 1 แปลงโดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองมีสถานการค้าจึงต้องถือว่าบ้านที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ทั้งสองเป็นสถานการค้าตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 77(เดิม) เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลกรุงเทพมหานครลูกหนี้ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น
ภาษีท้องถิ่นดังกล่าวเป็นภาษีที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาท ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน 44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(8)(เดิม) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากอสังหาริมทรัพย์: อำนาจประเมินของเจ้าพนักงานสรรพากรและข้อยกเว้น
การที่จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในศาลภาษีอากรนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 บัญญัติให้ทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะนำมาใช้บังคับเท่านั้น เมื่อการย่นหรือขยายระยะเวลาได้มีบทบัญญัติมาตรา 19 บัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่ต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 23 แห่งป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยต้องเสนอเอกสารตามลำดับชั้นตามระเบียบราชการไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแก้ต่างคดีให้ ซึ่งจำเลยต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารพร้อมสรุปข้อเท็จจริง และพึ่งพยานบุคคลไปชี้แจงข้อเท็จจริงแก่พนักงานเพื่อทำคำให้การแก้คดี เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่อาจทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ อันเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำให้การและจำเลยก็ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมเป็นการยื่นคำให้การโดยชอบ ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่อย่างใด
ตาม มาตรา 91 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอากรประเมิน ดังนั้น การที่จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องมีการประเมินตนเองของผู้มีเงินได้โดยยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี หรือเป็นการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมินในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์หรือไม่ยื่นรายการ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี เจ้าพนักงานจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าหนังสือเตือนให้ไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ย่อมไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาแผนกภาษีอากร จึงไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯลฯ มาตรา 29
เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะฉบับพิพาทมีข้อความ ประเภทการประกอบการ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไร ประเภทรายรับ รายรับหรือพึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ รวมรายรับทั้งสิ้น อัตราภาษีร้อยละ 3 ภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น รวมภาษีที่ต้องชำระ ระบุสถานที่ให้โจทก์นำภาษีไปชำระ ระบุเหตุผลที่ประเมินและการงดเบี้ยปรับ ดังนี้ ถือเป็นกรณีจัดให้มีเหตุผลในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลในข้อกฎหมายที่อ้างอิงรวมทั้งเหตุผลในข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ให้นิยามคำว่า ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ผู้ขายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์เพราะการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 หรือการทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวง เพราะโจทก์กับบริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด มิได้มีเจตนาให้เกิดผลในทางกฎหมายจากนิติกรรมจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพร้อมอาคารนั้นก็ตาม กรณีก็ต้องด้วยนิยามคำว่า ขาย ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 26 เมษายน 2526 ข้อ 2 แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากรสำหรับท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้บังคับขณะโจทก์ขายที่ดิน และประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) นั้นเป็นเพียงการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) พร้อมออกใบเสร็จรับเงินให้เท่านั้น มิใช่กระทำในฐานะเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีโจทก์ ดังนั้น เจ้าพนักงานสรรพากรจึงยังคงเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีของโจทก์ได้
การที่เทศบาลออกเทศบัญญัติเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรตาม พ.ร.บ.รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 มาตรา 12, 14 หรือองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ออกข้อบังคับตำบลเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 76 เมื่อที่ดินและอาคารที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ในเขตตามกฎหมายที่เรียกเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นดังกล่าวให้ถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ดังนี้ เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีอำนาจตาม ป.รัษฎากรย่อมมีอำนาจประเมินภาษีส่วนท้องถิ่นได้ เมื่อกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นแล้วก็จะส่งมอบให้แก่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดสรรตาม พ.ร.บ.รายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรมสรรพากรประเมินภาษีส่วนท้องถิ่น และข้อยกเว้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
กรมสรรพากรมีอำนาจจัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นแทนกรุงเทพมหานคร โดยอาศัย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 112 บัญญัติว่า "กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อเก็บภาษีอากร...เพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของภาษี ...ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภทดังต่อไปนี้ (1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร... และวรรคสาม "ภาษีอากร... ตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากร...ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น" ดังนั้น ภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมาตรา 5 แห่ง ป.รัษฎากรบัญญัติให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
ป.รัษฎากรลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ส่วน 2 การอุทธรณ์มีรายละเอียดตามมาตรา 28 ถึง 34 เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนการพิจารณาอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะและไม่มีบทบัญญัติว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ขั้นตอนพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวที่ป.รัษฎากรกำหนดไว้ จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2535 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ไม่นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับในกรณีนี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ป.รัษฎากรในส่วนนี้ มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำหรือสูงกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45