พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีหลังล้มละลาย: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษี และการไม่ให้ความร่วมมือทำให้ถูกประเมินตามกฎหมาย
ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัท ล. แล้ว บริษัทดังกล่าวมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าบริการและดอกเบี้ย ภาระภาษีของบริษัท ล. ดังกล่าว จำเลยไม่จำต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้บริษัทที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและอยู่ระหว่างการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่อย่างใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องปฏิบัติตาม ป.รัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ส่วนการปลดจากการล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอชำระได้ เว้นแต่หนี้ภาษีอากร จังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาลตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้น เป็นคนละขั้นกรณีกับวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ หาใช่เป็นบทบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแม้โจทก์จะเอาอาคารของลูกหนี้ออกให้เช่าเพื่อรักษาสภาพทรัพย์สินระหว่างรอการขายทอดตลาด แต่บริษัท ล. ยังคงสภาพเป็นบริษัทอยู่ จึงต้องเสียภาษีจากการคำนวณรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.รัษฎากร ในกรณีที่บริษัท ล. ไม่ยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ได้ เมื่อบริษัท ล. เป็นผู้ประกอบการที่มีรายรับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 และมาตรา 91/2 แล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้บริษัทดังกล่าวต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะได้