คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มาตรฐานวิชาชีพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์: การรักษาพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ แม้ผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ไม่ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ
สาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเกิดจากสาเหตุใด เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าสาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเสียหายถาวรอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะสาเหตุใดแน่ ตรงกันข้ามกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง ที่มีโจทก์ที่ 2 และ ส. บิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตามบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังการผ่าตัด เมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ทำการตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาก็ล้วนเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และ ส. ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนรับฟังมา พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าว
กรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีประกันภัย: การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน, ดอกเบี้ย, ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ, และมาตรฐานวิชาชีพ
โจทก์ที่ 1 เอาประกันภัยความเสี่ยงภัยแบ่งเป็นทุนประกันภัย 4 ประเภท คือ 1.อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 2.เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ 3.เครื่องจักร และ 4.สต๊อกสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ลักษณะของสัญญาประกันภัยระบุประเภทความรับผิดในแต่ละส่วนแยกออกจากกันโดยชัดเจน แสดงเจตนาของคู่สัญญาว่าต้องการแบ่งแยกประเภททรัพย์สินและวงเงินความรับผิดในแต่ละประเภท แม้มีการชำระเบี้ยประกันภัยโดยไม่แบ่งแยกตามประเภททรัพย์สิน แต่เมื่อสัญญาประกันภัยแยกประเภทความรับผิดและวงเงินประกันภัยของจำเลยออกจากกันได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งถึงราคาและความเสียหายของทรัพย์สินส่วนอื่นคงโต้แย้งเฉพาะความเสียหายเกี่ยวกับสต๊อกสินค้า ประกอบกับการแสดงหรือใช้เอกสารอันไม่ถูกต้องและเป็นเท็จของโจทก์ทั้งสองมีเฉพาะในส่วนของสต๊อกสินค้าเท่านั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากผิดเงื่อนไขไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทั้งหมด จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยที่ต้องเสียในมูลหนี้ โดยต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยได้แบ่งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยระบุวงเงินรับผิดของแต่ละประเภทไว้เป็นการแยกสัญญาประกันภัยออกเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกันได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประกันภัยในส่วนอื่น ๆ ข้างต้นที่มีลักษณะแบ่งแยกประเภทความรับผิด ทั้งวงเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยออกจากกันไว้ต่างหากโดยชัดเจนมีผลเสียไปทั้งหมด จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดชดใช้เฉพาะความเสียหายสต๊อกสินค้าเท่านั้น แต่ในส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมทั้งเครื่องจักร จำเลยยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่าตั้งแต่เกิดเหตุวินาศภัยจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองอ้างส่งเอกสารสต๊อกสินค้าเพื่อประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โจทก์ทั้งสองแจ้งแต่แรกว่าเอกสารเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสองถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด โดยค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องเป็นไปตามวงเงินสัญญาประกันภัย แต่จำเลยปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ต้นโดยให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารประกอบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนสต๊อกสินค้า จนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารจากร้านค้าคู่ค้าอันเป็นเท็จส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายจำเลยและบริษัทผู้ประเมินเป็นผู้แนะนำ ภายหลังเมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นเอกสารเท็จ จำเลยกลับแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองทั้งที่จำเลยก็ทราบว่าบริษัทผู้ประเมินไม่ได้ใช้เอกสารที่โจทก์ทั้งสองยื่นมาประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน ซึ่งระหว่างเจรจาที่ คปภ. เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. แนะนำว่าวงเงินประกันภัยส่วนใดที่รับกันได้ก็ให้จ่ายไปก่อน แต่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งเมื่อบริษัทผู้ประเมินที่จำเลยมอบหมายรายงานการประเมินความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน จำเลยก็ปฏิเสธไม่ยอมรับรายงานการประเมินดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนถือได้ว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมเพราะจำเลยสามารถชดใช้ค่าเสียหายในส่วนอื่นที่ไม่ได้โต้แย้งให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 แต่ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษในกรณีนี้มิใช่หนี้เงินขณะฟ้องที่จะนำมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224