คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มาตรา 3(1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2502

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอแก้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) ต้องเกิดก่อนใช้กฎหมายใหม่
ที่จำเลยจะร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายอาญา คือ วันที่ 1 ม.ค. 2500 ถ้าคดีของจำเลยมาถึงที่สุดลงเมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ออกใช้เสียแล้วกรณีก็ไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 3(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลจะแก้กำหนดโทษเสียใหม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความหนักเบาของโทษตามกฎหมายเก่าใหม่แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2501

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รวมกระทงลงโทษ – มาตรา 3(1) ประมวลกฎหมายอาญา – ไม่หนักกว่ากฎหมายเดิม
ศาลรวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 และ 230 มิใช่ลงโทษตามบทที่หนัก โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาในกรณีนี้จึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 162 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา3(1) ไม่เป็นกรณีที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3157/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ โดยอาศัยหลักกฎหมายอาญา มาตรา 3(1)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุจำนวน 130 เม็ดครึ่ง น้ำหนัก 9.13 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่และมาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่โดยมาตรา 65 วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทหนักมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทแตกต่างจากมาตรา 65 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่าต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ร้องขอ ศาลจึงชอบที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 เสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 กำลังรับโทษอยู่และสำนวนความปรากฏแก่ศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมกำหนดโทษใหม่สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยได้ตาม ป.อ.มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) กรณีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ
การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และฐานพยายามจําหน่ายเป็นหลายกรรม และการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ออกบังคับใช้ในภายหลังได้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และรวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ซึ่ง ป.ยาเสพติด มาตรา 1 บทนิยามคําว่า "จําหน่าย" มีความหมายรวมถึงการมีไว้เพื่อจําหน่ายด้วย ดังนั้น ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจําหน่ายและฐานพยายามจําหน่ายจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน การที่ศาลปรับบทความผิดทั้งสองฐานเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังซึ่งลงโทษจําเลยฐานจําหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) เพียงกรรมเดียว กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วน ป.ยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้เช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จําเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อตาม ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นําไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่มิใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษเพราะการกระทำผิดซ้ำไว้ เมื่อจําเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเพราะไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคําขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจําเลยได้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้