คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มาตรา 437

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้เช่าต่อความเสียหายจากทรัพย์อันตรายตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 437
เหตุที่เกิดเพลิงไหม้อาคารที่จำเลยที่ 3 เช่ามาจากจำเลยที่ 1 เสียหาย และทำให้วัสดุที่ถูกเพลิงไหม้หล่นใส่รถยนต์ที่จอดอยู่หน้าอาคารที่เกิดเหตุเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่อาคารดังกล่าวโดยสายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดิมอยู่นั้นเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยที่ 3 ผู้เช่าผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดต่อเจ้าของรถยนต์เพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง
ในปัญหาที่ว่าเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 3 นำสืบแต่เพียงว่า ได้เปลี่ยนสายไฟฟ้าในอาคารที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมด ขณะเกิดเหตุภายในอาคารไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และเปิดไฟฟ้าไว้ที่หน้าอาคารและในห้องครัวแห่งละ 1 ดวงเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อกระแสไฟฟ้าเกิดลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้อย่างไร จำเลยที่ 3 ไม่ทราบ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 437 หากไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมรถขณะเกิดเหตุ
ข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437เป็นกรณีที่เกี่ยวกับผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ไปเกิดเหตุโดยตรงซึ่งจะต้องรับผิดต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จำเลยไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์ขณะเกิดเหตุ เป็นแต่เพียงมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนเท่านั้น ทั้งเป็นกรณีที่ยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลชนกัน จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุเพลิงไหม้: ไม่มีประมาทเลินเล่อและมิได้อ้างความรับผิดตามมาตรา 437
ในคดีละเมิดเนื่องจากเหตุเกิดเพลิงไหม้ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือลูกจ้าง เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง ทั้งข้อเท็จจริงในทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าเครื่องอบกระป๋องในโรงงานของจำเลยเป็นทรัพย์ที่อาจจะเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์สิน คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองเครื่องอบและน้ำยาฆ่าแมลงที่บรรจุอยู่ในกระป๋องที่ต้องอบในเครื่องอบนั้นเป็นทรัพย์ที่มีอันตรายโดยสภาพหรือโดยการใช้ตามมาตรา 437 วรรคสองและเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยต้องรับผิดหรือไม่
เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย แม้โจทก์จะได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยแล้ว แต่เมื่อเหตุที่เพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือลูกจ้างของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โดยอ้างมูลละเมิดได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดผู้ครอบครองยานพาหนะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ผู้ครอบครองคือผู้ใช้ยานพาหนะขณะเกิดเหตุ
ผู้ครอบครองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา437 หมายถึงผู้ที่ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 82/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของเจ้าของรถและผู้ขับขี่ กรณีอาสาขับรถ ความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437
จำเลยที่ 1 อาสาขับรถให้จำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 3 เจ้าของรถนั่งไปด้วย ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่ 3 เป็นกิจการในระหว่างจำเลยที่ 3 เจ้าของรถกับจำเลยที่ 1 ผู้อาสา จำเลยที่ 3 ผู้ครอบครองและจำเลยที่ 1 ผู้ควบคุมรถยนต์อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12725/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 420 และ 437, การอุทธรณ์นอกฟ้อง
ความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นความรับผิดของตนเองที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดของผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลในความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เช่นนี้ ความรับผิดตามมาตรา 420 มิใช่เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ความรับผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวจึงอาศัยหลักเกณฑ์ต่างกันไป
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับควบคุมรถยนต์ลากจูง และรถกึ่งพ่วงของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าที่สนามบินภูเก็ต แล้ว ถ. ขับควบคุมรถด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับ ถ. มิได้พักผ่อนให้เพียงพอ เกิดอาการง่วงหรือหลับใน ทำให้ไม่สามารถควบคุมและห้ามล้อรถได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำลงข้างถนน ทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กหลังคาและอุปกรณ์เสียหาย แม้คำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง แต่ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ควบคุมด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักของข้อหาว่า ถ. กระทำละเมิดตามมาตรา 420 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงในขณะเกิดเหตุเป็นเหตุให้รถดังกล่าวพลิกคว่ำลงข้างทางทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กและอุปกรณ์ที่อยู่บนรถนั้นเสียหายจึงต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ ถ. ต้องรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างอีกประการหนึ่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงด้วยความประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142