คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มาตรา 83

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3053/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 83 คุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสีย จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุด
การที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องร้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนยื่นคำขออายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้มีกำหนด 60 วัน ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียไว้ก่อนมีการฟ้องคดีต่อศาล และเมื่อผู้มีส่วนได้เสียฟ้องผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียน และแสดงหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมกับสำเนาคำฟ้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดภายในกำหนดเวลาที่อายัดแล้วบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็ให้ความคุ้มครองต่อไปโดยให้การอายัดนั้นมีผลต่อไปจนกว่าศาลในคดีที่ผู้ขออายัดได้ยื่นฟ้องไว้จะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลในคดีที่ ป. ผู้ขออายัดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนกับพวกเป็นจำเลยได้มีคำสั่งถอนการอายัดที่ดินดังกล่าวหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วแต่อย่างใดศาลก็ไม่อาจมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองเพชรบูรณ์จดทะเบียนโอนสิทธิที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าก่อนลักทรัพย์: ศาลฎีกายืนว่าเป็นการกระทำต่างกรรมกัน และต้องลงโทษตามมาตรา 83
จำเลยกับพวกมีเจตนาแต่ต้นเพียงเพื่อจะฆ่าผู้ตายเพราะมีสาเหตุกันมาก่อน เมื่อฆ่าผู้ตายสำเร็จแล้วจึงพลอยถือโอกาสเอาปืนของผู้ตายไปด้วย การลักทรัพย์เป็นการกระทำโดยเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังอันเป็นคนละกรรมกับการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายซึ่งขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288,335(7)
เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ คำพิพากษาจะต้องระบุมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไว้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน: การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ขว้างปา ทำให้มีความผิดร่วมกันตามมาตรา 83
จำเลยที่ 4 นั่งมาในรถที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วมและเมื่อโจทก์ร่วมได้ขับรถแซงรถของจำเลยขึ้นไป รถของจำเลยเร่งแซงขึ้นหน้าและได้มีการมองหน้ากัน ในขณะที่รถจำเลยแซงขึ้นหน้าไปนั้นเอง จำเลยที่ 4 ได้ขว้างก้อนอิฐมาถูกกระจกหน้ารถโจทก์ร่วมแตก เมื่อถูกขว้างรถ โจทก์ร่วมก็ขับรถตามไปจนทันและร้องบอกให้รถจำเลยหยุด จำเลยที่ 1 ก็ไม่หยุดกลับขับเบียดกระโปรงข้างซ้ายหน้ารถของโจทก์ร่วม เป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 กระทำผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,358

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความถูกต้องของฟ้องอาญาและการไต่สวนมูลฟ้อง: การอ้างมาตรา 83 และอำนาจศาล
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) บัญญัติไว้เพียงว่าฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดทางอาญาไม่ หากแต่เป็นบทมาตราที่ใช้แก่ความผิดโดยทั่ว ๆ ไปว่า เมื่อมีความผิดโดยการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเกิดขึ้น ศาลจะต้องวางโทษบุคคลเหล่านั้นอย่างไร ฉะนั้นฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกันสั่งจ่ายเช็ค เพียงแต่ไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงไว้ด้วย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162(1) บัญญัติว่าถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของศาลเอง โดยตรงที่จะจัดการสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องขึ้นเสียก่อนที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณา ดังนั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาแม้โจทก์มิได้ขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องมาด้วย ศาลก็ย่อมสั่งและดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องไปตามกฎหมายได้ หาใช่เป็นการสั่งเกินคำขอของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 25/2513

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดร่วมกัน, การลงโทษ, และขอบเขตการใช้มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นบทมาตราที่บัญญัติถึงการกระทำผิดร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ให้ถือว่าผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเท่านั้น ในการพิจารณาลงโทษจำเลยที่กระทำผิดร่วมกัน แม้ศาลจะมิได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ไว้ในคำพิพากษาเป็นบทประกอบมาตราที่ลงโทษจำเลย ก็จะถือว่าศาลมิได้ลงโทษจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดหาได้ไม่