คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มูลค่าที่ควรได้รับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การประเมินจากลักษณะกิจการที่ให้บริการควบคู่กับการเช่า และการกำหนดมูลค่าตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88 (2) ประกอบมาตรา 88/2 (4) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ในเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีแสดงภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดมูลค่าที่ควรได้รับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการหรือสถิติการค้าของผู้ประกอบการเอง หรือของผู้ประกอบการที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงมูลค่าที่ได้รับได้โดยสมควร โจทก์เป็นผู้ประกอบการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานซึ่งมีการให้บริการสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟท์ กับการรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย ซึ่งการประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 81 (1) (ต) ส่วนการประกอบกิจการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการทั้งกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น โจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการแยกต่างหากจากกัน ส่วนกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวโดยมิได้มีการแยกค่าบริการนั้น โจทก์ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เมื่อกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวโจทก์คิดค่าตอบแทนเท่ากับกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการแยกต่างหากจากกัน และผู้เช่าที่มีสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวมีสิทธิใช้บริการทุกประเภทได้เช่นเดียวกับผู้เช่าที่มีสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการแยกต่างหากจากกัน กรณีเช่นนี้ เห็นได้ว่า แม้มีการทำสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวแต่เป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์และบริการด้านไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย จึงเป็นการประกอบกิจการทั้งที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการแยกต่างหากจากกัน กรณีที่มีการทำสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เมื่อกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าเพียงฉบับเดียวเป็นการประกอบกิจการทั้งที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือการให้บริการนั้นโจทก์มิได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88 (2) ที่จะประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้