คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ยึด/อายัดทรัพย์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 61/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอฝ่ายเดียวในการยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และค่าธรรมเนียมการยึด/อายัดทรัพย์สินก่อนพิพากษา
คำร้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินนั้นจำเลยอาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อจำเลยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องทันทีและศาลก็ได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันนั้น จึงถือว่าศาลอนุญาตให้จำเลยทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยให้โจทก์ และไม่ให้โอกาสโจทก์คัดค้านคำร้องของจำเลยจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การยึดและอายัดทรัพย์สินชั่วคราวก่อนพิพากษาต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการยึดและอายัดทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โจทก์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะไม่ได้รับประโยชน์จากการยึดและอายัดทรัพย์สินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึด/อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด: คำสั่งชอบด้วยกม. เจ้าของทรัพย์ต้องยื่นขอคืนตามขั้นตอน
ศ. สามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของ ศ. และโจทก์ทั้งสองเป็นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 16 (2) (4) และมาตรา 22 ดังนั้น การที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ ศ. และโจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่ ศ. ผู้ต้องหาหลบหนีและพนักงานอัยการไม่อาจดำเนินคดีได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิด ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของ ศ. ต้องตกเป็นของกองทุน ตามมาตรา 32 วรรคสอง หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ทั้งสองจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3708-3709/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจคณะกรรมการธุรกรรมในการยึด/อายัดทรัพย์สิน: รองเลขาฯ รักษาการเลขาฯ มีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาว่าการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมที่ไม่มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคณะกรรมการธุรกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติไว้ เพื่อแก้ข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานราชการ คือ กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเข้าไปเป็นผู้รักษาราชการแทน โดยผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนตามมาตรา 48 การรักษาราชการแทนเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่ต้องมีการแต่งตั้ง และเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมาปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วการรักษาราชการแทนก็จะสิ้นสุดลง เมื่อพันตำรวจเอก ย. ซึ่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในขณะนั้นรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงเป็นคณะกรรมการธุรกรรมได้ การประชุมและมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5059/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการยึด/อายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดทางอาญาทางการเงิน และขอบเขตการบังคับใช้กับทรัพย์สินของคู่สมรส/บุตร
การขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ มุ่งประสงค์จะให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันมิให้บุคคลที่กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย แม้ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ยังคงมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ในทำนองเดียวกัน คำสั่งอายัดทรัพย์สินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในคดีนี้จึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้ามีฐานะเป็นภริยาและบุตรของจำเลย ประกอบกับทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งห้าขอเพิกถอนการอายัดนั้น เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ยกให้โดยเสน่หา และยังมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าดังกล่าวภายหลังคดีอาญาที่เป็นคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยชอบของศาลชั้นต้น