คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ยึดทรัพย์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 55 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7507/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินที่ไม่ชอบ ผู้ดำเนินกระบวนการต้องรับผิด
โจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 เนื่องจาก น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกทับที่ดินของบุคคลอื่น และศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. ทั้งไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดชำระค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ขอยึดทำการโดยสุจริต ซึ่งความรับผิดในค่าธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระมัดระวังในการรับจำนองที่ดินและนำยึดที่ดินว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพราะโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีคำสั่งไปตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดทรัพย์สินชำระหนี้จากการจำนองเรือ แม้ขายทอดตลาดแล้วยังขาด หนี้เป็นหนี้สามัญผู้จำนองต้องรับผิด
เมื่อนำข้อตกลงในสัญญากู้ยืมที่ระบุว่า "ถ้าข้าพเจ้าล้มตายหรือหลบหายไปเสียข้าพเจ้ายอมให้เอาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าขายทอดตลาดเงินต้นและดอกเบี้ยให้ท่านจนครบ" มาพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลฯที่กำหนดว่า "ถ้าเอาเรือที่จำนองออกขายหรือขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระแก่ผู้รับจำนอง... เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ถือว่าเป็นหนี้สามัญซึ่งผู้รับจำนองอาจเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผู้จำนองไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้จำนองไม่ได้" แล้ว เห็นชัดเจนได้ว่า เมื่อโจทก์ผู้รับจำนองนำเรือที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่จำเลยผู้จำนองยังคงต้องรับผิดเพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้สามัญไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้การที่โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6395/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: การยึดทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ แม้มีการวางเงินชำระหนี้บางส่วน
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยแม้ก่อนหน้าในวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยนั้น จำเลยจะวางเงินชำระหนี้แก่โจทก์ 1,000,000 บาท ก็เป็นการชำระหนี้เพียงบางส่วนยังมีหนี้ตามคำพิพากษาอยู่อีกถึง 1,965,741.45 บาท ชอบที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือได้และแม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะมีราคาสูง แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยวางเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นทุเลาการบังคับโดยสภาพไม่สมควรแบ่งการยึดระหว่างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะอาจทำให้ทรัพย์สินเสื่อมราคา การกระทำของโจทก์หาใช่ทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้ดำเนินไปโดยไม่จำเป็นซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9593/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินเกินความจำเป็น ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ชำระเฉพาะส่วนของหนี้
แม้จำเลยที่ 1 จะได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19767 โดยอ้างว่าโจทก์นำยึดเกินความจำเป็นแก่การบังคับคดี และโจทก์ยื่นคำคัดค้านไว้แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างไต่สวน จำเลยที่ 1 ได้ถอนคำร้องฉบับดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เกินความจำเป็นแก่การบังคับคดีหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึด ทั้งที่จำเลยที่ 1 ถอนคำร้องไปแล้วจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา โจทก์คงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง จากราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินตามคำสั่งนายกฯ การพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สิน และการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.40/2516 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ต่างออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆโดยมติของคณะรัฐมนตรีได้และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ สลร.40/2516ให้อายัดทรัพย์ของจอมพลถ. และภริยากับพวกรวม 6 คน รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท มีชื่อโจทก์และท่านผู้หญิงจ. ภริยาจอมพล ถ.ร่วมกันในโฉนดที่ดิน คณะกรรมการซึ่งดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ได้อายัดที่ดินพิพาทไว้ต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ให้ทรัพย์สินของจอมพล ถ. และภริยา กับพวกรวม 6 คน ซึ่งอายัดไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ตกเป็นของรัฐ ให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ใน ทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐ และให้ดำเนินการตามควร ทุกประการในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ การที่ปรากฏชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยเท่านั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามคำสั่งที่ สลร.39/2517 ข้อ 5 แล้วและต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยตามข้อ 6 ว่า โจทก์มิได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีหลวงจ.เมื่อพันตรีหลวง จ. ได้ทำพินัยกรรม ยกให้ท่านผู้หญิง จ.แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ดังนี้เท่ากับคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพิพาท เป็นของท่านผู้หญิง จ. และในชั้นพิจารณาของศาลเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการได้ ที่ดินพิพาทก็ย่อมตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515ระบุไว้ชัดว่าต้องการให้การสอบสวนเรื่องทรัพย์สินที่อายัดไว้แล้วนั้นเสร็จสิ้นโดยเร็ว ดังนั้น คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจึงมีหน้าที่ทำการสอบสวนให้เสร็จไปโดยเร็ว การที่คณะกรรมการไม่แจ้งให้โจทก์นำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดเข้าสืบประกอบเอกสารซึ่งคณะกรรมการรับพิจารณาอยู่แล้วก็ดีหรือนำพยานหลักฐานใดมาพิจารณาเป็นข้อวินิจฉัยก็ดี ย่อมอยู่ ในดุลพินิจของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร อันจักพึงชี้ ให้เห็นได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของโจทก์ซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบหรือไม่ หาใช่จำกัดไว้เฉพาะข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย และได้ปฏิบัติ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 การพิจารณาของ คณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7729/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจยึดทรัพย์สินค่าภาษีค้างชำระของนายอำเภอและการคุ้มครองการบังคับคดี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 นายอำเภอแห่งท้องที่มีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินที่ดินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดค่าภาษีอากรค้างได้ โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้อำนาจในเหตุที่ว่านี้มีสิทธิขอให้ศาลใช้วิธีคุ้มครองโดยให้งดการบังคับคดีของกรมสรรพากรในระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือในระหว่างพิจารณาคดีของศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 264 แต่อย่างใด ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือตามที่นายอำเภอสั่งยึดตามฟ้อง ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 12 จึงอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอ เพียงแต่นายอำเภอจะต้องระมัดระวังใช้อำนาจมิให้ขัดกับคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งจะมีมาในภายหลังเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3939/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สิน: คิดจากราคาที่ยึดได้ หรือจำนวนหนี้? ศาลฎีกาวินิจฉัยให้คิดจากราคาที่ยึดได้แต่ไม่เกินจำนวนหนี้
กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายการเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์ที่ยึดนั้นคำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 3หมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชำระค่าปรับ: ศาลเลือกใช้วิธียึดทรัพย์สินแล้ว การออกหมายกักขังเป็นการผิดพลาด ไม่กระทบการบังคับคดี
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา29มีเจตนารมณ์ให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับส่วนการบังคับให้ชำระค่าปรับจะใช้วิธียึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือวิธีกักขังแทนค่าปรับอยู่ที่ศาลจะเลือกใช้ตามรูปคดีส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับศาลจะเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้นั้นเป็นเพียงการกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนดำเนินการตามวิธีที่ศาลเลือกใช้เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นเลือกใช้วิธียึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับการที่ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดให้กักขังจำเลยที่2แทนค่าปรับจึงเป็นการออกหมายผิดพลาดหาใช่ศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเป็นให้กักขังจำเลยที่2แทนค่าปรับหมายกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดดังกล่าวไม่มีผลลบล้างคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับจำเลยที่2จึงไม่ใช่ผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับอันเป็นผู้ต้องกักขังซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดบังคับคดีตามมาตรา 293 วรรคแรก ต้องเป็นการบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สิน ไม่ใช่การส่งมอบโฉนด
ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการบังคับยึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยโดยวิธีอื่น แต่ในคำร้องของจำเลยปรากฎว่าคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้โจทก์ชำระหนี้เงินวัตถุแห่งหนี้จึงเป็นคนละอย่างต่างกัน ไม่อาจที่จะหักกลบหนี้กันได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคแรกจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินจากการแบ่งสินสมรส: ศาลพิพากษาตามประเด็นผู้ร้องอ้างสิทธิในทรัพย์สิน
คดีร้องขัดทรัพย์ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีอยู่ตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งอ้างว่าทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นของผู้ร้องโดยได้มาจากการแบ่งปันสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เมื่อหย่ากัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นของผู้ร้องหรือไม่จึงชอบแล้ว เมื่อคดีมีประเด็นพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ทรัพย์สินที่ยึดเป็นของผู้ร้องหรือไม่เท่านั้น ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า แม้โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องด้วย แต่ผู้ร้องก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2เพราะเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 มิได้ทำเฉพาะตัว หากแต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกิจการอันจำเป็นในครอบครัวเกี่ยวกับสินสมรสและเป็นหนี้เกิดจากการงานที่จำเลยที่ 2 กับผู้ร้องทำด้วยกันในฐานะที่เป็นสามี ภริยากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 โจทก์จึงมีสิทธินำยึดทรัพย์รายนี้มาชำระหนี้ได้นั้นจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำร้อง อีกทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 6