คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ยื่นแบบแสดงรายการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าเนื่องจากไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีและไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกำหนด
โจทก์เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมโดยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสาขาจังหวัดระนองตามบทบัญญัติมาตรา 85/7 วรรคหนึ่ง แห่ง ป. รัษฎากร และโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่งจะต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานสาขาจังหวัดระนองรวมกับสำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่ง ป. รัษฎากร แต่อย่างใด โจทก์จึงอ้างว่าได้ยื่นเสียภาษีที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาแล้วไม่ได้ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นชำระภาษีของเดือนภาษีที่ถูกประเมิน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสาขาจังหวัดระนองตั้งอยู่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 (1) (ค) เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภายในกำหนดเวลา 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5911/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการลูกจ้างเข้าประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน และมาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน เมื่อจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อโจทก์ อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามที่มาตรา 34 บัญญัติไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีในฐานะเป็นผู้ประกันตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4413/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีโอนสิทธิรับเงินค่าจ้างก่อสร้าง แม้โอนสิทธิไปแล้วผู้รับเหมาก็ยังต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารกับหน่วยราชการ ต่อมาโจทก์โอนสิทธิและมอบอำนาจในการรับเงินแต่ละงวดทั้งหมดให้แก่บริษัท ว. และโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ให้บริษัท ว. เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ เมื่อโจทก์ยังเป็นคู่สัญญากับทางราชการ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82 (1) โดยมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีที่ได้รับชำระค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (2) และอาจนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายที่โจทก์เรียกเก็บจากทางราชการในกรณีที่โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากทางราชการได้ ตามมาตรา 82/3 และ 82/4 การที่โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการเสียภาษีไปตามความรับผิดในการที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นความรับผิดตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับได้ และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์และของบริษัท ว. หาได้เป็นการซ้ำซ้อนกันไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12488/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของป้ายที่หมดกรรมสิทธิ์แล้ว ไม่ต้องเสียภาษีป้าย แม้จะยื่นแบบแสดงรายการไว้
ตามมาตรา 7, 12, 17, 30 และ 33 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้เป็นเจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อราชการส่วนท้องถิ่นภายในเดือนมีนาคมของปี ตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการแล้วจะทำการประเมินภาษีป้ายแล้วแจ้งการประเมินไปยังเจ้าของป้าย หากเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวผู้อุทธรณ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
โจทก์ทำสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง รวม 250 หลัง แก่จำเลย โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 เป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วรวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ก็ตาม การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายโฆษณาดังกล่าวในปีภาษี 2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ แต่คำสั่งของเจ้าพนักงานของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลให้จำเลยต้องชำระภาษีป้ายจำนวนตามฟ้อง และจำเลยสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการไม่ชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับภาษี: การประเมินเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง
จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายคลาดเคลื่อนไป จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) และการกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ อันจะทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89 (10)
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม: เบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) และ (10) ต้องพิจารณาความถูกต้องของการยื่นแบบแสดงรายการ
การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายในเดือนภาษีตุลาคม2536 คลาดเคลื่อนไปจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 89(4) และการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มิใช่เป็นการมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ อันจะทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89(10) ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมิน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเพียงหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามมาตรา 89(4) เท่านั้น
ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และมาตรา 246 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2004/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากความผิดพลาดในการยื่นแบบแสดงรายการ ศาลลดเบี้ยปรับเมื่อให้ความร่วมมือและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
ในเดือนกรกฎาคม2535โจทก์มียอดซื้อเพียง19,562.69บาทและมีภาษีซื้อ1,369.38บาทโดยยอดซื้อดังกล่าวมียอดซื้อที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เพียง2,144.87บาทขอภาษีคืนตามกฎหมายได้เพียง150.13บาทแต่โจทก์ได้ยื่นแบบภ.พ.30แสดงรายการภาษีไว้ผิดพลาดไม่ถูกต้องโดยแสดงตัวเลขยอดซื้อไว้เป็น19,562,069บาทยอดภาษีซื้อ1,369,344.83บาทภาษีขายไม่มีและขอภาษีคืนเป็นจำนวนเงิน1,369,344.83บาทดังนั้นการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์จึงเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปโจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินตามประมวลรัษฎากรมาตรา89(4)แม้จะเป็นการกระทำไปโดยมีเจตนาหรือไม่โจทก์ก็ยังคงต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่เมื่อโจทก์ตรวจพบข้อผิดพลาดแล้วโจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องทราบและได้ให้ความร่วมมือกับจำเลยด้วยดีทั้งข้อผิดพลาดของโจทก์ก็ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยจึงสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์ลงอีกร้อยละ25

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการไต่สวนและประเมินภาษีเมื่อพบความผิดพลาดในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรโดยแสดงเงินได้และหักค่าใช้จ่ายไว้ผิดประเภทเป็นเหตุให้จำนวนภาษีน้อยกว่าที่ควรต้องเสีย ถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมิน มีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้วประเมินภาษีอากรให้ถูกต้องตามมาตรา 1 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากรได้โดยไม่จำเป็นต้องประเมินแล้วแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรตามมาตรา 18 วรรคแรกก่อนแต่อย่างใด เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการทำงานในสถานพยาบาลของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีแม่เมาะและในสถานพยาบาลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่แม่เมาะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้จากคลินิก ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและดำเนินการรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนนั้นเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการค้าเกิดขึ้นเมื่อนำเข้าสินค้า แม้ยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ กรมสรรพากรมีสิทธิรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ
89ตรี จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507-2508. โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้า. ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี. ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขายสินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. จำเลยย่อมมีรายรับตามมูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. และมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีการค้าทุกเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป. มูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนภาษีที่จำเลยผู้ประกอบการค้ามีรายรับ.
การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินในภายหลัง. เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า. แล้วมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวไม่ทำให้มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเพิ่งเกิด. แม้หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีที่ประเมินจะเพิ่งมีไปยังจำเลยภายหลังจากจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว. กรมสรรพากรก็ยังมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนได้.
เบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกอบการค้าต้องเสียตามประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย.
สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี.
คำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรซึ่งระบุว่าขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ถือได้ว่าขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ. เพราะค่าภาษีอากรเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) อยู่แล้ว.