คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ระยะเวลาของงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403-2430/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชย-การแก้ไขคำฟ้อง: กำหนดระยะเวลาของงาน, การปฏิเสธข้อกล่าวหา, กระบวนการยุติธรรม
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ในวรรคสามบัญญัติว่า "ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น" และวรรคสี่บัญญัติว่า "การจ้างที่มีกำหนดเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง" จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างให้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท โดยในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่างานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี คำว่า งานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่
การขอแก้ไขคำฟ้องนั้นไม่อาจกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวศาลแรงงานกลางต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสคัดค้านเสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งอนุญาต และเมื่ออนุญาตให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขคำฟ้องได้แล้วก็จะต้องให้จำเลยทั้งสี่มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้ออ้างที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อน จึงจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่โจทก์ที่ 1 ได้แก้ไขคำฟ้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21, 181 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางนำข้ออ้างตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 มาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 117,150 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ยอมรับ แล้วคำนวณค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้ายตามอัตราดังดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ