คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะ 'ฝ่ายบริหาร' ใน พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทำให้ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิก/กรรมการสมาคม
พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2534มาตรา4วรรคสามบัญญัติว่า"พนักงานหมายความว่าพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจแต่ไม่หมายความรวมถึงฝ่ายบริหาร"และวรรคสี่บัญญัติว่า"ฝ่ายบริหารหมายความว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปและหมายความรวมถึงผู้อำนวยการผู้ว่าการกรรมการผู้จัดการใหญ่กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการด้วย"โจทก์ทั้งสี่เป็นหัวหน้าหน่วยงานโดยเป็นพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาของธนาคารก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้จัดการอันเป็นฝ่ายบริหารตามความหมายของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2534มาตรา4วรรคสี่หาใช่เป็นเพียงพนักงานตามบทกฎหมายดังกล่าวในมาตรา4วรรคสามไม่โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจเด็ดขาดในการพิจารณาให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตนเองหรือไม่เมื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายบริหารโจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกหรือกรรมการของสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2534มาตรา4,30,35

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างก่อนมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนใหม่
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะมีผลใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่อันจะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างโจทก์รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการเลิกจ้างจะนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้สิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องเรียก ไม่มีกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9480/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งภาพลักษณ์นักบินไม่ขัด กม.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์/รธน. และไม่เป็นการลดตำแหน่ง
คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์นักบิน ที่ระบุว่า 1. การไว้ผมต้องเรียบร้อยและชายผมต้องไม่เกินคอปกเสื้อ รวมถึงการย้อมสีผมต้องดูสุภาพและเหมาะสมเป็นธรรมชาติ 2. การไว้หนวดและจอนต้องให้เรียบร้อย โดยจอนต้องยาวไม่เกินติ่งหูและไม่อนุญาตให้ไว้เครา 3. การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบินต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบนั้น เป็นการออกคำสั่งภายใต้ระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบหน่วยงานกำหนดวิธีปฏิบัติหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อยู่ในความหมายของสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 โดยคำสั่งนี้ขยายความการปฏิบัติในเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และในตอนท้ายของคำสั่งที่ระบุว่าหากนักบินยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามให้งดปฏิบัติการบินจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมและจำเป็นต้องมีมาตรการให้นักบินต้องปฏิบัติตาม มิใช่การลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งเมื่อเป็นคำสั่งกำหนดแนวทางให้พนักงานในตำแหน่งนักบินทุกคนปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติและประกอบธุรกิจด้านบริการ โดยมิได้สร้างภาระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งนักบินเกินสมควร หรือขัดต่อสภาพทางกาย สุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาของโจทก์อันจะทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของโจทก์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ออกคำสั่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ Low Rank โดยโจทก์ยังคงได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนตามตำแหน่งนักบินที่ 1 ตลอดมา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์