คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รับของกลาง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: การตรวจค้น, การรับของกลางหลายครั้ง, และการบันทึกการจับกุม/ตรวจค้น
ร.ต.อ.อุทัยได้ทำการตรวจค้นบริเวณด้านหลังอู่ที่พบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุของกลางภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว จึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรก และ ร.ต.อ.อุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้าผู้ครอบครองดูแลอู่ในขณะนั้นและได้ทำบันทึกการตรวจค้นโดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่ถูกเผาให้ผู้ครอบครองดูแลอู่ลงชื่อไว้แล้ว การตรวจค้นของ ร.ต.อ.อุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่ รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานรับของโจรนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกันอันจะเป็นความผิดกรรมเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำบันทึกการจับกุมในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว และเนื่องจากเป็นการบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียด เพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางให้จำเลยที่ 1ดูแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 242แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้นั้นถือได้ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3582/2534 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาตามคำร้องรับของกลาง: ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา แม้เจ้าของที่แท้จริงจะโต้แย้ง
จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้สัญญาไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองร้อยเอ็ดตามคำร้องขอรับรถยนต์ของกลางและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จะนำรถยนต์ของกลางส่งพนักงานสอบสวนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ของกลางแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาได้ ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของที่แท้จริงเพราะพนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนเรื่องการคืนของกลาง หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
สารวัตรใหญ่เป็นพนักงานสอบสวนคนหนี่ง และเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนการมอบอำนาจให้กระทำต่อสารวัตรใหญ่ ย่อมกระทำต่อพนักงานสอบสวนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ขอรับรถยนต์ของกลางจากสารวัตรใหญ่ การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายและมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย
เอกสารคำร้องขอรับรถยนต์ของกลางไปเก็บรักษา และรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่บันทึกการรับรถยนต์ของกลางคืน หาใช่สัญญาค้ำประกัน อันเป็นตราสารที่ต้องปิดอากร-แสตมป์ตามประมวลรัษฎากรไม่ เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปขอรับรถยนต์จากพนักงานสอบสวนนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการขอรับรถยนต์ได้ด้วย เช่น ยื่นคำขอรับรถยนต์และเซ็นชื่อรับรถยนต์ไว้ การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นการกระทำเกี่ยวกับเรื่องขอรับรถยนต์ทั้งสิ้นหาเป็นการกระทำเรื่องอื่น ๆ ต่างหากไม่ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว การปิดอากรแสตมป์ 5 บาท ของจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2500

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจร: แม้ฟ้องไม่ระบุชื่อผู้รับของ แต่หากมีการสืบพยานผู้รับของแล้ว จำเลยจะอ้างว่าหลงข้อต่อสู้ไม่ได้
ในฟ้องความผิดฐานรับของโจร โจทก์ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อผู้รับของกลางไว้จากจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำพยานบุคคลผู้รับของกลางไว้จากจำเลยเข้าสืบแล้ว จำเลยยังจะว่าหลงข้อต่อสู้ หาได้ไม่