คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รับช่วงทำเหมือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าประทานบัตรโมฆะ: การรับช่วงทำเหมืองต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.แร่
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรให้โจทก์เช่าประทานบัตรเพื่อผลิตหินแกรนิต เป็นการให้โจทก์รับช่วงการทำเหมืองตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามไว้นั่นเอง เพียงแต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามการรับช่วงการทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายอนุญาต ก็รับช่วงการทำเหมืองได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าประทานบัตรโดยโจทก์เป็นผู้ผลิตหินแกรนิตแล้วให้จำเลยที่ 1 ผู้ถือประทานบัตรติดต่อขอใบอนุญาตขนแร่จากทรัพยากรธรณีจังหวัด เพื่อโจทก์จะได้นำหินแกรนิตที่ผลิตได้ออกจำหน่าย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าตนไม่มีสิทธิขนแร่ได้เองเสมือนเป็นผู้ถือบัตรประทานบัตรเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 77 ทั้งมีเจตนาฝ่าฝืนบทห้ามของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ถือประทานบัตรไว้ในมาตรา 140 นอกจากนี้มาตรา 75ว่า ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรด้วยประสงค์ให้ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการตามประทานบัตรเองการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตรโดยไม่ยื่นขออนุญาต จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761-2764/2517

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงทำเหมืองและสิทธิในที่ดิน: สัญญาเช่าประทานบัตร มิใช่การโอนประทานบัตร แต่เป็นการรับช่วงที่ชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาเช่าประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่โจทก์และจำเลยที่ 1ได้ทำกันไว้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2509 สรุปความได้ว่า ที่ดินตามสัญญาที่ได้รับประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1 คงเป็นผู้ถือประทานบัตรอยู่ ที่ดินที่ยังไม่ได้รับประทานบัตร เป็นหน้าที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้ได้ประทานบัตร แต่เงินค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะต้องเสีย โจทก์เป็นคนออก และโจทก์เป็นผู้ทำเหมืองแร่ในที่ดินที่ได้ประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1จะได้รับผลประโยชน์ซึ่งเรียกว่าค่าเช่าร้อยละสามของแร่ที่ทำได้สัญญามีผลบังคับตลอดไปจนกว่าโจทก์จะขุดแร่หมดเนื้อที่ข้อสัญญาดังนี้ ไม่ใช่การโอนประทานบัตรตามความในมาตรา 45แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461. เพราะจำเลยที่ 1ยังเป็นผู้ถือประทานบัตร มีนิติสัมพันธ์กับทางราชการอยู่ โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าทำเหมืองแร่โดยอาศัยประทานบัตรของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากแต่เป็นการรับช่วงเข้ามาทำเหมือง ซึ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากัน แต่พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461 นี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งมีมาตรา 76 และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตร ยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายและให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีอนุญาต ก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้น การชำระหนี้ตามสัญญารายนี้ จึงไม่เป็นการพ้นวิสัย(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
จำเลยที่ 2 ได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาทมาก่อนจำเลยที่ 1จะได้ประทานบัตร จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหาแร่ในที่พิพาท เว้นแต่ จะได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 2 เสียก่อนตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461 มาตรา 74แม้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะได้ทำข้อตกลงกันไว้ตามเอกสาร ล.1 แต่ก็ยังมิได้กำหนดและชดใช้ราคาทรัพย์สินในที่พิพาทกัน จำเลยที่ 1 ยังฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์ผู้รับช่วงการทำเหมืองจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินตามสัญญาเช่าทำเหมืองความประสงค์ของโจทก์ก็คือ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการใดๆ เพื่อให้โจทก์ได้เข้าทำเหมืองแร่นั่นเองฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการตรงตามคำขอของโจทก์อยู่แล้ว