คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ราคาที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีครอบครองปรปักษ์มีทุนทรัพย์พิจารณาจากราคาที่ดิน แม้โจทก์อ้างครอบครองนานกว่า 20 ปี
คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท โดยทำนาทุกปีด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แต่ปรากฏตามคำฟ้องว่า จำเลยได้โต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยและห้ามโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป สภาพแห่งคำฟ้องและคำขอบังคับจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินที่พิพาทที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่จำเลยมาเป็นของโจทก์ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองหรือความเป็นเจ้าของในที่พิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาท เมื่อมีราคาไม่เกินสามแสนบาท จึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6032/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงประเภทคดีจากไม่มีทุนทรัพย์เป็นมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดิน ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
แม้คำขอโจทก์ท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทจำเลยเป็นผู้ครอบครองตลอดมาเท่ากับจำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือไม่ ซึ่งนัยความหมายของประเด็นดังกล่าวคือโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้หรือไม่ ดังนั้น ราคาของที่พิพาทในคดีนี้จึงอาจคำนวณราคาเป็นราคาเงินได้ คดีโจทก์เดิมที่บังคับขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้นจึงกลายเป็นคดีที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาของที่พิพาทซึ่งเท่ากับ 25,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินเวนคืน การหักราคาที่ดินส่วนที่เหลือ และอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน... ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 ... มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี... ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว" เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินตามมาตรา 9 วรรคสี่ ให้แก่โจทก์เสร็จแล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน และตามบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งดังกล่าวมิได้ห้ามผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนก่อนได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ไปยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่โจทก์จะได้รับแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกด้วยโดยไม่ได้โต้แย้งเลยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบประการใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้และถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ส่วนเงินค่าทดแทนความเสียหายของต้นไม้และที่ดินกับสวนส้ม โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายดังกล่าวตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่งก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งได้ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหานี้ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นแก้ฎีกาของโจทก์ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าเสียหาย, การลดราคาที่ดิน, และสิทธิในการเข้าถึงถนนสาธารณะ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินการเวนคืน รวมทั้งบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตลอดจนเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนจะได้รับในกรณีใดบ้างไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนและได้มีการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืนจากจำเลยทั้งสี่ถ้าการเวนคืนที่ดินของโจทก์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนเฉพาะสำหรับที่ดินส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยตามมาตรา 21 วรรคสาม หาจำต้องรอให้จำเลยที่ 2 ลงมือก่อสร้างหรือก่อสร้างทางลงถนนศรีนครินทร์ให้เสร็จสิ้นก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่
โจทก์ยังไม่ได้ไประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคห้าบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอันเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามโครงการของโจทก์ได้ ทั้งโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือสิทธิใดเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ต้องสร้างทางเข้าออกสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีพิพาทที่ดินมีทุนทรัพย์ แม้ฟ้องขอให้ถอนคำคัดค้าน ศาลต้องพิจารณาตามราคาที่ดิน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้าน ที่ได้คัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ อันเป็นคดีที่มี คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่า โจทก์ได้นำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จึงเห็นได้ว่าทั้งคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยมีจุดประสงค์โต้เถียงแย่งความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นหลัก คำฟ้องของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ เป็นผลอันสืบเนื่องมาจากว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คือ ตามราคาที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคแรก ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ที่ศาลแขวงอ้างว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ต้องยื่นก่อนวันสืบพยาน หากทราบราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นแล้วถือเป็นเหตุที่ควรทราบ
คดีไม่มีการชี้สองสถาน โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 180 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทอันเป็นเวลาล่วงเลยมาถึงยี่สิบปี วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าราคาที่ดินต้องเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ซึ่งโจทก์อาจกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ตามราคาในขณะยื่นฟ้องได้อยู่แล้ว ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ทราบว่าราคาที่ดินสูงขึ้นกว่าวันที่โจทก์ซื้อที่ดินก็ดี หรือโจทก์เพิ่งคิดได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่าราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นก็ดี ล้วนเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนวันสืบพยาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาเวนคืนที่ดิน: ความล่าช้าของจำเลยทำให้ต้องใช้ราคาในปัจจุบันเพื่อความเป็นธรรม
จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปี จึงชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและความมุ่งหมายของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่ดินเกินเนื้อที่ตกลง ศาลพิพากษาให้ชำระราคาที่ดินส่วนเกินได้ ไม่เกินคำขอ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากโจทก์เนื้อที่ 107 ตารางวา แต่จดทะเบียนโอนเกินกว่าที่ตกลงไป 11 ตารางวาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหรือให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่าราคาที่ดินตารางวาละ 120,000 บาท เมื่อศาลเห็นว่าคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินนั้น ไม่สามารถเพิกถอนได้ ก็ยกคำขอส่วนนี้และพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,320,000 บาท ตามคำขอท้ายฟ้องที่ว่าหากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ขอให้จำเลยชำระค่าที่ดิน ซึ่งหมายความว่าเมื่อเพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ก็ขอให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินส่วนที่เกินได้ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
สัญญาขายเหมาคือสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อตกลงซื้อทรัพย์สินที่ผู้ขายเสนอขายหมดทั้งจำนวนในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งผู้ซื้อต้องผูกพันชำระราคาและผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดตามที่ตกลงกันไว้ทั้งนี้ไม่ว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายจะมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่คิดคำนวณได้ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุตัวทรัพย์และส่วนของทรัพย์ที่จะซื้อจะขายไว้แน่นอน คือที่ดินเนื้อที่ 107 ตารางวาแต่ในส่วนของราคาระบุว่าให้เพิ่มหรือลดลงได้ตามเนื้อที่ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมีราคาเท่าใด จึงไม่ใช่สัญญาขายเหมา
จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ตกลงกันว่าจะสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ระหว่างนั้นได้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 2 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นเมื่อถึงกำหนดก็จดทะเบียนโอนที่ดินเป็นชื่อจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์จึงต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7922/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินเวนคืนตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 44 ต้องพิจารณาจากราคาซื้อขายปกติ ณ วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ จากเดิมที่ให้กำหนด โดยถือราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นกำหนดโดยคำนึงถึง มาตรา 21 ทั้งมาตรา คือ ต้องกำหนดโดยเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) (4) และ (5) มาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (2) และ (3) ด้วย หาใช่แก้ไขให้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยต้องถือเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในปีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในราคาที่ดินทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ และสิทธิในการนำสืบพยาน
จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพราะสำคัญผิดในราคาที่ดินพิพาทที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะจำเลยสำคัญผิดในราคาที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จำเลยจึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง หาใช่เป็นการสืบพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารไม่
of 11