คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ราคาท้องตลาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3249/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนชำระหนี้โดยไม่คิดราคาท้องตลาดเป็นโมฆะ – จำเป็นต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ราคาตลาด
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ไว้ 2 ข้อ ดังนี้ 1. ข้อตกลงโอนชำระหนี้ตามบันทึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 และ 16 เป็นโมฆะ เพราะคู่กรณีจัดการ แก่ทรัพย์จำนองผิดไปจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วย การบังคับจำนอง และเป็นกรณีที่จำเลยยอมรับเอาทรัพย์สินอื่น แทนการชำระหนี้เงินกู้ โดยไม่ได้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระ เป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สิน ในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ และ 2. ข้อตกลงการโอนชำระหนี้ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 เป็นโมฆะ เพราะจำเลย รับเอาทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้คิดเป็น หนี้เงินค้างชำระเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาด แห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อนี้คู่ความยังเถียงกันอยู่ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงขอสืบพยานเพื่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะโอนนั้นทรัพย์ที่โอนมีราคาท้องตลาดสูงกว่าราคาที่จำเลย รับโอน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นได้ปฏิเสธไม่สืบพยาน ตามที่โจทก์ร้องขอแล้วพิพากษาคดีไปโดยมิได้ฟังข้อเท็จจริง ให้ครบถ้วนเสียก่อน เป็นการมิชอบ กรณีจึงมีเหตุอันสมควร ที่จะให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในประเด็นข้อพิพาท ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยสิ่งอื่นแทนเงิน การรับไก่ถือเป็นการยอมรับชำระหนี้ตามราคาท้องตลาด ทำให้หนี้ระงับ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยอมให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ยังค้างชำระทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้วด้วยไก่ การที่โจทก์รับเอาไก่ของจำเลยไว้ย่อมแปลความหมายได้ว่า โจทก์พอใจรับเอาไก่ของจำเลยชำระหนี้แทนเงินที่จำเลยกู้ยืมไป และคิดราคาไก่ตามราคาท้องตลาดการชำระหนี้ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคสอง ทำให้หนี้เงินกู้ยืมเป็นอันระงับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินต้องมีมูลค่าเทียบเท่าราคาท้องตลาด ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมเป็นโมฆะ
หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้ายอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้เงินกู้ซึ่งทำให้หนี้นั้นระงับต่อเมื่อตกลงกันให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบเมื่อไม่ได้ตกลงกันในเรื่องผู้ให้กู้จะยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้โดยคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินในเวลาและสถานที่ส่งมอบแต่กลับมีข้อสัญญาให้ผู้กู้โอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ให้กู้ตามที่ผู้ให้กู้ต้องการโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิแห่งการเช่านั้นมีราคาเท่าใดข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา656วรรคสองตกเป็นโมฆะ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายแปลงหนี้จากเงินกู้ยืมมีผลใช้บังคับได้ หากราคาที่ตกลงไม่ขัดกับราคาท้องตลาด
จำเลยมิได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่าสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นเอกสารปลอมและศาลอุทธรณ์ก็มิได้ยกประเด็นที่ว่าสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นดังกล่าวเพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์
จำเลยกู้เงินโจทก์ 5,000 บาท ต่อมาจำเลยตกลงโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้โดยทำเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นการแปลงหนี้ใหม่มาจากหนี้เงินกู้ยืมและในสัญญาจะซื้อขายได้กำหนดราคาที่พิพาทไว้แน่นอนว่าเป็นราคา 5,000 บาทที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่พิพาทมีราคา 10,000 บาทสูงกว่าหนี้เงินกู้นั้นก็เป็นราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเอาไว้สำหรับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นเท่านั้นหาใช่ราคาท้องตลาดแห่งที่พิพาทในเวลาที่ทำสัญญากันไม่เมื่อตามข้อสัญญาได้มีการกำหนดราคาที่พิพาทลงไว้แน่นอนว่าเป็นราคา 5,000 บาทและไม่ปรากฏว่าเป็นราคาผิดกับราคาท้องตลาดในขณะนั้นสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจึงมีผลใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะเพราะขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่ลงวันที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้ทรงสุจริตลงวันได้ การตีราคารถยนต์ชำระหนี้ต้องเป็นราคาท้องตลาด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ให้นำมาตรา 910 ในเรื่องตั๋วเงินมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยซึ่งมาตรา 910 วรรคห้าบัญญัติว่า ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋วผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ และตามวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ตราสารที่มีรายการขาดตกบกพร่องในเรื่องเช่นนี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นตั๋วเงินที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเพียงเพราะเหตุที่เช็คไม่ได้ลงวันที่ไว้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมฆะและการที่จำเลยเอาเงินโจทก์ไปแล้วเขียนเช็คพิพาทที่ยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้โจทก์ไว้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่เอาตามที่โจทก์จะเห็นสมควรเพื่อเรียกเงินตามเช็คเอามาชำระหนี้โจทก์นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างใด เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
อายุความตามมาตรา 1002 ซึ่งให้นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น สำหรับในกรณีเรื่องเช็คก็คือวันที่ลงในเช็คนั่นเองการที่จำเลยจะเอารถยนต์ตีราคาใช้หนี้โจทก์ได้นั้นก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมรับเอารถยนต์นั้นเป็นการชำระหนี้แทนเงินและการที่หนี้จะระงับไปด้วยการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินเช่นนี้ ย่อมจะต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบ จะถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ไม่เทียบเท่าราคาท้องตลาด
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม