คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ราคาลดลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การคำนวณค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือราคาลดลง และดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา25วรรคหนึ่ง(เดิม)บัญญัติให้สิทธิผู้ที่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนและขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นหลังจากที่คณะกรรมการได้กำหนดราคาแล้วจะมีหนังสือเชิญให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ทำสัญญาและให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนในภายหลังส่วนผู้ที่ไม่ยอมทำสัญญาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจะนำเงินไปวางที่ธนาคารออมสินวันที่นัดให้มารับเงินนั้นจำเลยจะต้องมีหนังสือแจ้งไปให้เจ้าของทราบอีกทีหนึ่งในทางปฏิบัติหากเจ้าของที่ถูกเวนคืนไม่ตกลงทำสัญญาด้วยจำเลยจะไม่มีหนังสือให้มารับเงินที่จำเลยจะให้ไปรับเงินที่ธนาคารออมสิน ฝ่ายจำเลยถือว่าหนังสือขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนเป็นหนังสือเชิญให้มาทำสัญญาซื้อขายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา10มิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งกรณีของโจทก์ทั้งสองนั้นหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งคือหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนฉบับวันที่30สิงหาคม2533โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือการวางเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่1กันยายน2533และได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่29ตุลาคม2533จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา60วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา26วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ที่1ไม่สามารถประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างในที่ดินของโจทก์ที่2ซึ่งถูกเวนคืนโจทก์ที่1ต้องเสียทำเลทางการค้าเสียเวลาในการหาสถานที่ประกอบกิจการค้าแห่งใหม่ไม่สะดวกต่อการติดต่อกับลูกค้าทำให้เสียลูกค้าและขาดรายได้อันถือได้ว่าโจทก์ที่1ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจกท์ที่1ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคห้า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองและวรรคสามเป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา21ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา21วรรคสี่นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา21เท่านั้นแม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา21วรรคสี่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา21วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์ที่2มีราคาลดลงเพราะการเวนคืนแล้วก็ต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงด้วยแต่ที่ดินโฉนดเลขที่21685ของโจทก์ที่2มิได้มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยจึงไม่เข้ากรณีที่จะได้เงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงเพราะเหตุการเวนคืนตามมาตรา21วรรคสามส่วนที่ดินโฉนดเลขที่21686ของโจทก์ที่2เนื้อที่107ตารางวาถูกเวนคืนเพียง19ตารางวาเหลือ88ตารางวานั้นเป็นที่ดินที่ไม่ได้อยู่ติดกับถนนแจ้งวัฒนะคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน4เมตรเมื่อถูกเวนคืน19ตารางวาแล้วที่ดินที่เหลือ88ตารางวาก็ยังคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน4เมตรเหมือนเดิมและเนื้อที่ดินลดลงเพียงเล็กน้อยยังคงใช้ประโยชน์ได้แตกต่างจากเดิมไม่มากและหลังจากสร้างทางสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะเสร็จแล้วทำให้ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ที่2แปลงนั้นอยู่ใกล้กับทางขึ้นลงทางด่วนด้วยย่อมไม่ทำให้ที่ดินของโจทก์ที่2ที่เหลือจากการเวนคืนดังกล่าวนั้นราคาลดลง เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา26วรรคสามซึ่งอัตราสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันฟ้องคือวันที่23ธันวาคม2534ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน, ราคาลดลง, การชดเชย, ดอกเบี้ย, และสิทธิในการใช้ทาง
การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง พ.ศ. 2534 ของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด โดยกำหนดสูงกว่าราคาที่ดินที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ก่อนถูกแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ที่ให้นำมาตรา 21(2)(3) มาเป็นเกณฑ์กำหนดก็ตามแต่ก็เป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญญัติดังกล่าว มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งกำหนดราคาเบื้องต้น การจ่ายเงินค่าทดแทนในการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่14 มกราคม 2534 คดีจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่29 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นการพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวจะต้องนำเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21(1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย อำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเพราะเหตุราคาลดลงนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ จำเลยได้สร้างทางจำเป็นกว้าง 4.80 เมตร ให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ซึ่งโจทก์สามารถใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยสะดวกอยู่แล้ว ที่โจทก์จะขอให้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้มีความกว้าง 6 เมตรนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไปนั้นเพื่อ วัตถุประสงค์ให้เป็นทางด่วนสาธารณูปโภคและได้มีประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515ข้อ 29 บัญญัติมีใจความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นเชื่อมต่อทางพิเศษ หากมีการฝ่าฝืน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ห้ามเด็ดขาดที่จะมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือน หรือสิ่งอื่นเชื่อมทางพิเศษ ทั้งการได้ภารจำยอมในที่ดินแปลงใดก็ตามต้องได้มาโดยนิติกรรม โดยอายุความ หรือโดยผลกฎหมายที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น เมื่อกรณีของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจบังคับภารจำยอมให้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ผู้ได้รับชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นจะต้องได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใด ก็เป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราต่อปีคงที่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง