คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ราคาแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4258/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ตามคำพิพากษาคืนรถยนต์เช่าซื้อ: โจทก์ต้องบังคับคดีตามลำดับก่อนเรียกร้องราคาแทน หากรถยนต์ยังอยู่
หนี้ตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน เป็นกรณีคำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีไว้ ซึ่งโจทก์ต้องบังคับคดีไปตามลำดับ โจทก์มีพยานมาเบิกความเพียงว่า ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ไม่พบ โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่สามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ ซึ่งในข้อนี้กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตอบคำถามค้านว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้มาโดยตลอดว่าสามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาส่งมอบคืนได้ กรณีน่าเชื่อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ และโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช่าซื้อ, อายุความค่าเสียหาย, และขอบเขตอำนาจศาลในการพิพากษาค่าเสียหายและราคาแทน
โจทก์ฟ้องคดีของโจทก์เองโดยลงชื่อ "บริษัทสยามกลการ จำกัดโดยนายปรีชาพรประภาและนายประเสริฐลีลาศเจริญ กรรมการ โจทก์"ในใบแต่งทนายความของโจทก์มีนายปรีชาพรประภา และนายประเสริฐลีลาศเจริญ กรรมการบริษัทโจทก์ลงนามและประทับตราของโจทก์เป็นการถูกต้องตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ โจทก์ไม่จำต้องนำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความประกอบต่อศาลอีก
สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดใด หรือผิดสัญญาข้อใด ให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันมีผลบังคับทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
การที่จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(อ้างฎีกาที่ 601/2513)
โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการผิดสัญญาเช่าซื้อและให้คืนรถที่เช่าซื้อไปไม่ได้มีคำขอว่า ถ้าหากจำเลยไม่ส่งคืนจะต้องใช้ราคาแทนด้วยและเป็นราคาเท่าใด ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยคืนรถยนต์ 3 คันที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียวว่าศาลกำหนดให้น้อยไป นอกจากนี้ในอุทธรณ์ของโจทก์ยังกล่าวไว้ด้วยว่า โจทก์ไม่ติดใจร้องขอต่อศาลว่า ถ้าจำเลยไมคืน (รถยนต์) จะให้ใช้ราคาแทน ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยในข้อที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ และประเด็นข้อนี้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นอีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ถ้าจำเลยไม่คืนรถยนต์ ให้ใช้ราคาแทน จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายสำหรับรถ 3 คันที่ยังไม่ได้คืน เดือนละ 1,000 บาทต่อ 1 คันตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะส่งมอบรถคืน แต่ค่าเสียหายหลังจากวันฟ้องต้องไม่เกินเกินคันละ 48,000 บาท เพียงเท่าที่รถยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ต่อไปไม่เกิน 4 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2550 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยการใช้ราคาแทนและการโอนสิทธิในทรัพย์สินหลังชำระหนี้เสร็จสิ้น
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่กำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับ กล่าวคือ โจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างอันโจทก์จะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 แต่การที่โจทก์ชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ต้องใช้ราคาแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ร่วมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่จำเลยจนครบถ้วน แล้วจำเลยรับไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้านแสดงว่าจำเลยได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในรถยนต์ที่เช่าซื้อและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย