คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รางวัลเจ้าหน้าที่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษปรับและรางวัลเจ้าหน้าที่ในคดีร่วมกันนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ศาลฎีกาแก้ไขการบังคับโทษปรับและยกเลิกการจ่ายรางวัลซ้ำซ้อน
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 การลงโทษปรับผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะมีผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนกี่คน ศาลจะต้องลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ไม่เกินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งต้องลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเมื่อจำเลยคดีนี้กระทำความผิดตามฟ้องร่วมกับ จ. แม้จะปรากฏว่าความผิดครั้งเดียวกันนี้ศาลได้ลงโทษปรับ จ. เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วไปแล้วในคดีก่อนก็ตาม ความผิดของจำเลยคดีนี้ก็หาระงับลงไม่ ต้องลงโทษปรับจำเลยคดีนี้ด้วย โดยปรับจำเลยคดีนี้รวมกับ จ. เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยคดีนี้เป็นจำนวนเดียวกับค่าปรับ จ. แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่า หาก จ. ชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับไปแล้วในคดีก่อนเพียงใดก็ให้นำมาหักออกจากโทษปรับของจำเลยคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคดีรวมกันเป็นเงินเกินกว่าสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับด้วยว่า ในกรณีที่ต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากความผิดตามฟ้องมีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน
บุคคลสองคนร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 เมื่อคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาลงโทษ โดยศาลสั่งริบของกลางและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางไปแล้ว ของกลางในคดีก่อนกับของกลางในคดีนี้เป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลสั่งริบของกลางแล้วและไม่ปรากฏว่าของกลางที่สั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางตาม พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ มาตรา 7 และ 8 วรรคสองให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมเพียงครั้งเดียว
การจ่ายรางวัลซ้ำซ้อนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
(ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยการสำแดงเท็จ และการจ่ายรางวัลเจ้าหน้าที่จากค่าปรับ
จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ ได้รับสิทธิงดเว้นการเสียอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศจำเลยได้นำของซึ่งระบุในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นเยื่อกระดาษเหนียวเป็นม้วนแต่ปรากฏว่าของที่จำเลยนำเข้ามาเป็นกระดาษ ไม่ใช่เยื่อกระดาษและไม่ใช่กระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้ หรือเศษกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้วอันได้รับการงดเว้นอากรขาเข้าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จ และฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลอันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินดังนั้น การที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติอนุญาตย้อนหลังให้กระดาษที่จำเลยนำเข้ามานั้นเป็นวัสดุที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์ได้ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยอนุญาตไว้แล้ว. ทำให้จำเลยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับของที่จะต้องเสียภาษีนั้น เป็นมติที่ไม่ชอบและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ หามีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรืออนุญาตให้กระดาษสำเร็จรูปนั้นกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษคราฟท์ อันจะทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกลับไม่เป็นความผิดต่อไปได้ไม่จำเลยจึงมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
การสั่งจ่ายสินบนหรือรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 นั้น กระทำได้ 2 กรณี คือเมื่อมีการสั่งริบของกลางประการหนึ่ง หรือเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยอีกประการหนึ่งและวิธีจ่ายนั้น หากมีการริบของกลางก็ให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางนั้น หากไม่มีการริบของกลางหรือมีการริบของกลาง แต่ของกลางนั้นไม่อาจขายได้และมีการลงโทษปรับจำเลยก็ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาล คดีนี้มีการลงโทษปรับจำเลยจึงสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาลได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นความผิดฐานนี้จึงยุติแล้วจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดในความผิดฐานนี้อีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้