คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รายรับจริง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานพยาบาลที่เจ้าของดำเนินกิจการเอง ต้องประเมินตามรายรับจริงและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีพิพาท โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งจําเลยมีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1856/2550 เรื่อง การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และบันทึกข้อความของกรุงเทพมหานครที่ กท. 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ข้อ 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิกระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปี ตามรายละเอียดที่ผู้รับประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของโรงพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วย (เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าฯ) ในอัตราร้อยละ 20 อันเป็นวิธีการกำหนดค่ารายปีตามบันทึกข้อความดังกล่าวของจําเลยเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินรวม 19 ประเภท โดยโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในประเภท 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิก และได้จําแนกประเภทของโรงพยาบาล โพลีคลินิก ออกเป็น 2 ประเภทอีกด้วย คือ 1.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่สร้างอาคารเอกเทศเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ และ 2.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่ดัดแปลงต่อเติมมาจากตึกแถว หลักเกณฑ์การกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วย ดังนั้น วิธีการกำหนดค่ารายปีของจําเลยตามบันทึกข้อความดังกล่าว จําเลยกำหนดขึ้นโดยคํานึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของมาตรา 8 วรรคสาม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีแนวทางปฏิบัติเดียวกันในการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กรณีโรงเรือนที่มีลักษณะพิเศษที่หาค่าเช่าไม่ได้ หรือที่เจ้าของใช้ประกอบกิจการเอง แต่การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษีพิพาทแก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยไม่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อพิเคราะห์บัญชีและเอกสารของโจทก์จะเห็นได้ว่า มีการลงรายการทางบัญชีแต่ละช่วงเวลาโดยระบุชื่อนามสกุลของผู้ป่วยไว้อย่างละเอียด มีการลงบัญชีแยกประเภทไว้อย่างสมบูรณ์โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองความถูกต้อง และรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ พ. มีข้อมูลรายได้สุทธิสอดคล้องถูกต้องตรงกับงบการเงินซึ่งจําเลยไม่เคยโต้แย้งถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารทางบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงน่าเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการรายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีรายได้หลายประเภท เช่น ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าอาหาร รายได้จากผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนพักห้องผู้ป่วย รายได้จากผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และรายได้ค่าบริการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ กำไรของแต่ละประเภทของปีภาษีย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่การให้บริการของโจทก์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยประเมินค่ารายปีและภาษีจากราคาค่าห้องหรือค่าเตียงแต่ละประเภทคูณด้วยจำนวนครั้งที่ใช้ห้องหรือเตียงในแต่ละประเภทในปี 2557 และ 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์นําส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเปรียบเทียบสัดส่วนหรือค่าเฉลี่ยระหว่างรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยกับรายได้รวมหรือกำไรหลายปีมาเทียบแล้วนํามากำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2558 และปีภาษี 2559 เป็นหลักเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีแล้วบวกเพิ่มอีกร้อยละ 6.54 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์แสดงค่าห้องพักผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริงจึงไม่ใช่ค่าเช่าอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ทั้งที่โจทก์แจ้งรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยจริงประจำปีภาษี 2558 จำนวน 32,993,614.42 บาท และประจำปีภาษี 2559 จำนวน 31,865,492.21 บาท โดยโจทก์มีรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองว่าได้ทำการตรวจสอบรายได้ค่าห้องและส่วนลดค่าห้องของโจทก์สำหรับปี 2557 และปี 2558 แล้ว ทั้งจําเลยไม่เคยโต้แย้งหรือนําสืบถึงความไม่น่าเชื่อถือของรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีรายได้ค่าห้องพักรับจริงในปี 2557 เป็นเงิน 32,993,614.42 บาท และปี 2558 เป็นเงิน 31,865,492.21 บาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยจึงไม่ชอบ ส่วนที่จําเลยอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาคําร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานโดยกำหนดค่ารายปีจากจำนวน ห้องพักผู้ป่วยและจำนวนเตียงคนไข้ที่มีการใช้งานในปี 2557 และปี 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์อ้างส่ง โดยค่ารายปีห้องพักผู้ป่วยของโจทก์แยกต่างหากจากรายได้ค่าอาหาร จึงต้องกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วยต้องหักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วยในอัตราร้อยละ 20 ตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ดังกล่าว จากข้อมูลตารางสรุปที่แสดงรายละเอียดอัตราค่าเช่าห้องพักที่โจทก์จัดทำขึ้น จึงกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีจากห้องจำนวน 214 ห้อง จำนวนเตียงที่เปิดให้ใช้ 257 เตียง ในหนึ่งปี 365 วัน เมื่อคำนวณรายได้จากห้องพักผู้ป่วยแยกตามประเภทห้องผู้ป่วยโดยกำหนดราคาจากห้อง ห้องละ 300 บาท ถึง 4,600 บาท คูณจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพัก (เตียง) ในปีภาษี 2558 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2557 เท่ากับ 102,405,200 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 81,924,160 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 10,240,520 บาท และในปีภาษี 2559 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2558 เท่ากับ 99,155,400 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 79,324,320 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 9,915,540 บาท เห็นว่า วิธีการที่จําเลยใช้กำหนดค่ารายปีเป็นการกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีแตกต่างจากแนวปฏิบัติ เมื่อคําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงนําการประเมินค่ารายปีที่ไม่ชอบโดยนํารายได้ค่าห้องพักรวมกับค่าส่วนลดทางการค้าและค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมเข้าด้วยกันเป็นฐานในการประเมินหาได้ประเมินตามแนวปฏิบัติ โดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามรายละเอียดที่ผู้ประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของสถานพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ในห้อง ในอัตราร้อยละ 20 คําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ชอบด้วย