คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รุกล้ำเขตที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรังวัดที่ดินรุกล้ำเขตที่ดินเดิม การพิพากษาตามแผนที่พิพาทที่ทั้งสองฝ่ายรับรอง
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ที่จำเลยรุกล้ำนั้นคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่เศษแต่โจทก์ขอคิดเพียง 1 ไร่ เพื่อจะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ แต่เมื่อทำแผนที่พิพาทแล้วปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกจำเลยรุกล้ำมีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา ก็ตาม จำนวนเนื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องก็เป็นเพียงแต่การกะประมาณไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานไปรังวัดทำแผนที่พิพาท ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยนำชี้ว่าที่พิพาทอยู่ในเส้นสีม่วงและรับรองว่าแผนที่พิพาทถูกต้อง จึงต้องถือว่าที่ดินที่พิพาทกันคือที่ดินที่อยู่ภายในเส้นสีม่วง การที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์เนื้อที่1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวาจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อเติมอาคารรุกล้ำเขตที่ดินและการรับฟังพยานเพิ่มเติม ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่ความนำเสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนงให้จัดทำแผนที่พิพาท เพื่อให้ทราบว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ก่อสร้างรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 ถึง 6 สิงหาคม 2547 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10, 11 และ 13 สิงหาคม 2547 หลังจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ส่งแผนที่พิพาทมายังศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ขออ้าง ส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายหลักประกันและจดจำนองของธนาคาร ก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในการทำแผนที่พิพาท และ ฉ. เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมดังกล่าวเข้ามาอีก โดยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสองแทนพยานบุคคลสองอันดับที่ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกไปแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับวันนัดพยานโจทก์ที่ได้กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาประวิงคดี ประกอบกับแผนที่พิพาทไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกรุกล้ำ โจทก์ทั้งสองจึงอาจจำเป็นต้องนำพยานบุคคลที่เห็นว่าเป็นกลางมานำสืบเพื่อให้ได้ความชัดเจน ซึ่งไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบ เพราะจำเลยทั้งสามมีสิทธิถามค้านและนำพยานของตนเข้าสืบแก้ได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมกรณีเช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจทำให้รูปคดีของโจทก์ทั้งสองเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนอาคารรุกล้ำเขตที่ดิน แม้ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง ก็ยังต้องรับผิดชอบต่อการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
เมื่ออาคารที่จำเลยครอบครองต่อจาก ส. ซึ่งถึงแก่ความตาย ปลูกสร้างห่างจากเขตที่ดินข้างเคียง 45 เซนติเมตร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงและเทศบัญญัติของเทศบาลเมืองสวรรคโลก เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2500 และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงชอบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 แม้ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดข้อยกเว้นให้สามารถก่อสร้างผนังของอาคารห่างเขตที่ดินน้อยกว่า 50 เซนติเมตรได้ หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงในกรณีก่อสร้างชิดเขตที่ดิน และ ช. เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ทำหนังสือยินยอมเช่นว่าให้แก่ ส. ซึ่งเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว อันแตกต่างไปจากกฎหมายเดิมที่ใช้ขณะจำเลยกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกฎหมายยกเว้นความผิดของจำเลยที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกลับกลายเป็นไม่เป็นความผิด จำเลยจึงยังไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 แต่เมื่อจำเลยไม่ต้องรื้อถอนอาคารพิพาทโดยผลของกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่อาจลงโทษปรับจำเลยรายวันไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ คงลงโทษปรับจำเลยรายวันได้เพียงถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษปรับรายวันนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป อันเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) มีผลใช้บังคับแล้วนั้นแม้เป็นการไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225