พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2528
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้าง, การร่วมกิจการ, และการประเมินค่าเสียหาย
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถของบริษัท ข.บริษัท ข.เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประจำทางได้นำรถยนต์มาเดินร่วมในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 1โดยพ่นสีเดียวกับสีรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ 1 และมีตราของจำเลยที่1 ที่ข้างรถทั้งสองข้างพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารได้รับ เงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ถือว่าบริษัท ข.ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่1 การที่รถยนต์โดยสารประจำทางมาเดินรับส่งคนโดยสารในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นกิจการของ จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นลูกจ้างของจำเลยที่1ด้วย การที่ห้ามล้อเท้าของรถยนต์เกิดใช้การไม่ได้ในขณะขับเป็นเหตุให้รถยนต์ชนรถยนต์สามล้อ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะยังอยู่ในวิสัยที่ผู้ขับขี่อาจป้องกันได้ถ้าหากใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยก่อนนำออกไปรับส่งผู้โดยสาร การที่รัฐวิสาหกิจออกค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงานของตนไปแล้วหาทำให้ผู้ทำละเมิดและนายจ้างพ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลนั้นต่อผู้เสียหายไม่ ผู้ตายอายุ 50 ปี ไม่ปรากฏว่ามีโรคร้ายประจำตัว และขณะนั้นโจทก์ที่ 1 อายุ 46 ปีปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมากช่วงชีวิตของบุคคลทั่วไปยาวขึ้นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเวลา 10 ปีนั้น ควรแก่พฤติการณ์แล้ว การที่ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะเป็นกำหนดเวลาแน่นอนและคำนวณเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งออกมาโดยไม่ต้องรอฟังว่าผู้ขาดไร้อุปการะจะมีชีวิตต่อไปอีกเป็นเวลานานเท่าใดนั้นเป็นการตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องและใช้ดุลพินิจไปตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด หนี้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์มิใช่หนี้ในอนาคต แต่เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระทันทีจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวและแจ้งถึงค่าเสียหายก่อนเพราะถือว่านายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2511
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้ร่วมกิจการต่อการละเมิดของลูกจ้าง: กรณีแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ
จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3. จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์. และนำเข้าเดินร่วมทางกับบริษัทจำเลยที่ 2. บริษัทจำเลยที่ 2 นำรถเข้าร่วมเดินกับบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานทาง โดยจำเลยที่ 1,2 และ 3 แบ่งผลประโยชน์กัน. จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 และถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วย. จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 4 ด้วย.