คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลงเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ โดยการลงเวลาทำงานเท็จ แม้จะมีการจ่ายค่าจ้างแล้วก็เลิกจ้างได้
เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.2.1 จำเลยกำหนด ให้พนักงานต้องบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงานด้วยตนเองทุกครั้ง ห้ามบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้ผู้อื่นบันทึกเวลาให้ นอกจากนี้ตามประกาศ เรื่องการขาดงาน ของจำเลยกำหนดว่า หากพนักงานขาดงานจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน และโจทก์ยอมรับว่าลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือนหากขาดงานจะถูกตัดค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน ดังนี้ การที่ในวันเกิดเหตุเวลาซึ่งเป็นเวลาทำงานโจทก์ออกจากบริษัทจำเลยโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาหลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้กลับไปทำงานจนถึงเวลา 17 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาเลิกงานจึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่โจทก์โทรศัพท์ให้บุคคลอื่นลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์ว่าโจทก์เลิกงานเวลา17.20 นาฬิกา จึงเป็นการลงเวลาเลิกงานผิดไปจากความจริงทั้งที่โจทก์ไม่ได้ทำงานประมาณ 4 ชั่วโมง การลงเวลาทำงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างในแต่ละชั่วโมงที่โจทก์ทำงานอีกด้วย การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงแล้วแม้จำเลยได้นำเงินค่าจ้างของโจทก์ในงวดดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ไปก่อนโดยมิได้ยับยั้งการจ่ายค่าจ้างเฉพาะจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ขาดงานดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเวลาลงเวลาทำงาน ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความเสียหายทางวินัย จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
โจทก์จำเลยต่างรับราชการครูโรงเรียนเดียวกัน วันเกิดเหตุโจทก์ไปถึงโรงเรียนก่อนจำเลยและลงเวลามาทำงานว่า 8.00 นาฬิกา จำเลยลบเวลาที่โจทก์เขียนไว้ออกแล้วเขียนทับลงไปว่า 7.46 นาฬิกาเป็นการแก้ว่าโจทก์มาทำงานเร็วกว่าเดิม และเวลาที่โจทก์เขียนไว้เดิมกับเวลาที่จำเลยเขียนแก้ต่างยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติราชการ การเขียนแก้จึงไม่อาจเป็นการโกงเวลาราชการไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ และการแก้ไขเวลาดังกล่าวก็มิใช่การกระทำของโจทก์ โจทก์ไม่อาจถูกลงโทษทางวินัยได้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155-4157/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดวินัยร้ายแรง กรณีใช้รหัสผ่านผู้อื่นลงเวลาทำงาน ย่อมเป็นเหตุเลิกจ้างได้
โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แจ้งรหัสผ่านของตนให้โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านนั้นบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ในโปรแกรม Hris ของจำเลยซึ่งเป็นระบบออนไลน์ ข้อมูลที่บันทึกถูกเก็บรวมกันไว้ทั้งประเทศ
การใช้รหัสผ่านเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้รหัสผ่านเป็นใคร ผู้ใช้รหัสผ่านนั้นอยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานเมื่อเวลา วัน เดือน ปีใด ผู้ป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมจึงต้องซื่อตรงต่อตนเองในการป้อนรหัสผ่านและข้อมูลด้วยตนเอง
การที่โจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ที่แจ้งไว้ป้อนข้อมูลลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แสดงว่าในขณะฟ้องข้อมูลโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูล การยืนยันตัวด้วยการป้อนรหัสผ่านจึงเป็นเท็จ ข้อมูลเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็เป็นข้อมูลเท็จเพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เข้าทำงานตามเวลา วัน เดือน ปี ที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมจริง โจทก์ทั้งสามร่วมกันกระทำการโดยไม่ซื่อตรงต่อตนเอง เมื่อข้อมูลเท็จถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของจำเลย การประมวลผลข้อมูลจากโปรแกรมจึงคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความจริงอันเกิดจากฐานข้อมูลเท็จ
จำเลยออกมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศแจ้งให้ลูกจ้างถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระดับชั้นความลับของรหัสผ่านเป็นระดับ "ลับ" และระบุว่ารหัสผ่านคือปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เป็นด่านแรกในการป้องกันการเข้าถึงระบบสารสนเทศของจำเลย ต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่านแก่ผู้อื่น สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการกำหนดเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลของจำเลยทั้งในด้านตัวผู้ใช้งานต้องเป็นเจ้าของรหัสผ่านเอง และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูลด้วยการที่ผู้ใช้งานต้องใช้รหัสผ่าน ทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ด้วยความสำคัญของรหัสผ่านและความถูกต้องของฐานข้อมูล การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง