คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลดค่าเช่า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การลดค่าเช่า, สิทธิเลิกสัญญา, การริบเงินประกัน, การบอกเลิกสัญญา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 568 วรรคแรก ข้อความว่าผู้เช่าจะเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนก็ได้ มีความหมายอยู่ในตัวว่าผู้เช่าจะไม่เรียกให้ลดค่าเช่าลงก็ได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ต้องลดค่าเช่าลงในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วน สัญญาเช่าที่มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เป็นรายปีไม่ว่าจำนวนรั้วที่กั้นและเนื้อที่โฆษณาจะลดลงด้วยประการใดก็ตามค่าเช่าในแต่ละรายปีจะไม่เปลี่ยนแปลงนั้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญามีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้เช่า (จำเลย) ไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ให้กรุงเทพมหานคร (โจทก์)ริบเงินค้ำประกันสัญญาตามสัญญาข้อ 3 และให้ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาต่อกันทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" นั้นเป็นการให้สิทธิเลิกสัญญาเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยผู้ไม่ชำระหนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสัญญาเช่าซื้อโดยความยินยอม และการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม
ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ธ. มีอำนาจเต็มในการขายรถยนต์ให้เช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ อำนาจเช่นนี้ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจในการลดราคาขายหรือราคาเช่าซื้อหรือลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย การที่ ธ. ลดค่าเช่าซื้อที่ค้างให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์ แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่าการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก็ตาม แต่ข้อสัญญาใดที่คู่กรณีได้ทำขึ้น คู่กรณีสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขและตกลงทำข้อสัญญาใหม่ได้ เมื่อข้อสัญญาที่ทำขึ้นใหม่นั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนการที่ ธ. ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระแล้วเท่ากับคู่กรณีได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อให้แก่กันโดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาเดิมที่ให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วใช้ข้อสัญญาใหม่ดังกล่าวข้อสัญญาใหม่นี้มีผลผูกพันคู่กรณีเพราะเป็นข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร ค่าเช่าซื้อรถยนต์แต่ละงวดเป็นเงินค่ารถยนต์ที่ซื้อและค่าเช่ารวมอยู่ด้วย เงินค่าเช่าถือเป็นค่าเสียหายที่ฝ่ายใช้รถยนต์จะต้องชำระให้แก่เจ้าของรถยนต์เมื่อไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เงินค่าเช่ามีจำนวนเท่าไรศาลย่อมกำหนดค่าเช่าหรือค่าเสียหายนี้ได้ตามที่เห็นสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 710/2499 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าค้างชำระ, การค้ำประกัน, ลดค่าเช่า: ศาลพิจารณาความรับผิดของผู้เช่าและผู้ค้ำประกันตามสัญญาและมติคณะเทศมนตรี
โจทก์อ้างว่าสัญญาเช่าที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนซึ่งตามประมวลรัษฎากร ม.118 ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานมิได้นั้น หากยังมีเอกสรที่ไม่ต้องด้วยข้อห้ามอื่น ๆ อีกพอที่จะรับฟังเป็นหลักฐานได้ว่ามีสัญญาเช่ากันแล้ว เอกสารที่ไม่ต้องด้วยข้อห้ามอื่น ๆ อีกพอที่จะรับฟังเป็นหลักฐานได้ว่าได้มีสัญญาเช่ากันแล้ว เอกสารที่ไม่ใช่สัญญาเช่านั้นถือว่าเป็นหลักฐานพอที่จะบังคับผู้เช่าได้แล้ว
ก.ม.ในเรื่องค้ำประกันไม่ได้บังคับว่าต้องบรรยายควมผิดของผู้ค้ำประกันไว้ แม้ปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์ยังมิได้แสดงถึงข้อผูกพันระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ก็ตามแต่เมื่อมีหนังสือให้ปรากฏว่าเป็นการค้ำประกันก็เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันแล้ว ผู้ค้ำประกันจึงไม่พ้นจากความผิดฐานเป็นผู้ค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นถือเอามติคณะเทศมนตรีลดค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระโจทก์ลง 1 ใน 4 คงให้จำเลยทั้งสองชำระเพียง 3 ใน 4 โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามสัญญาแต่ก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1ได้ โจทก์ไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 แต่กระนั้นศาลอุทธรณ์ยังพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันใช้ค่าเช่าเต็มตามสัญญาจึงถือว่าเป็นการไม่ชอบเพราะถ้าโจทก์ประสงค์จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ในปัญหาว่าควรลดค่าเช่าหรือไม่แล้วนั้น พิธีการตาม ก.ม.ก็มีอยู่ให้ทำได้แต่โจทก์ไม่ขอให้ทำฉนั้นย่อมถือว่าความผิดของจำเลยที่ 1 ยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้และโดยข้อ ก.ม.ที่ว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงร่วมรับผิดเพียงเท่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเท่านั้น.