คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ละเมิดสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 128 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเป็นโจทก์ร่วมในคดีละเมิดสิทธิผู้บริโภค: เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 271 หมายถึง ผู้ซื้อของซึ่งหลงเชื่อการขายของโดยหลอกลวง ไม่ใช่เจ้าของรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้า และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการ... เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล คำว่า ผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ฯลฯ เมื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้า โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จึงไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ มาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8433/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่สุจริต ละเมิดสิทธิเจ้าของชื่อเดิม ศาลสั่งห้ามใช้ชื่อ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ที่โจทก์ทั้งสองได้ใช้กับกิจการให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 นำชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ไปขอจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยนำชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "บริษัทไทยคมเทเลคอม จำกัด" โดยจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งบริการรับซ่อมและติดตั้งเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดอันเป็นวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการทำนองเดียวกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้เช่าช่องสัญญาณสื่อสารดาวเทียมและจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการเอาชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบและเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและต้องเสื่อมเสียประโยชน์เนื่องจากประชาชนผู้ซื้ออุปกรณ์สื่อสารของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจสับสนหรือหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือโจทก์ทั้งสอง ส่งผลให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารของโจทก์ทั้งสองได้น้อยลง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสองเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 จำเลยทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิใช้ชื่อ "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสิบสองใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยทั้งสิบสองใช้คำว่า "ไทยคม" และภาษาอังกฤษคำว่า "THAICOM" ทั้งในการเขียนและเรียกขานเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือใช้ประกอบกิจการค้าของจำเลยที่ 1 แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองคำว่า "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อสินค้ามีเครื่องหมายการค้าแล้วไปขายต่อ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ตามที่จดทะเบียนไว้ก็ตามก็เป็นเพียงคุ้มครองให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ และมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายกาค้ากับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้าดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลของตนไปในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้าจากราคาสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้าดังกล่าวที่ซื้อมาออกจำหน่ายต่อไปอีก แม้กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยซื้อจากผู้ขายซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำมาจำหน่ายจะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ห่อหุ้มกล่อง กับข้อความว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี" และมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท พ. ว่าเป็นศูนย์บริการ ก็ยังคงแสดงว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่อยู่ในกล่องนั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่นั่นเอง โดยบริษัท พ. เป็นเพียงผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนเท่านั้นมิได้มีลักษณะเป็นการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท พ. หรือเป็นของจำเลยผู้นำมาจำหน่ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ซื้อสินค้าปัตตาเลี่ยนวอห์ลของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5080/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโดยมิชอบและการละเมิดสิทธิครอบครอง การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต้องอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ได้ปิดล้อมหน่วงเหนี่ยว กักขัง บุกรุกทำลายทรัพย์สินของโจทก์ในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามหยุดการรบกวนการครอบครองของโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งหากได้ความตามฟ้องโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จึงต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน การที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าการที่พลตรี น. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22คนก่อน ยินยอมให้โจทก์เข้าไปดำเนินการสถานีบริการน้ำมันไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามเพราะโจทก์เข้าไปดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันเป็นการไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งแม้จะฟังได้เช่นนั้นจำเลยทั้งสามก็จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้โจทก์ออกไป ไม่มีอำนาจบังคับคดีเองโดยพลการหากขืนทำไปก็ย่อมเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนแล้วในธุรกิจที่ใกล้เคียงกันเป็นการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและก่อให้เกิดความเสียหาย
โจทก์ได้ใช้คำว่า "ORIENTAL" และ "โอเรียนเต็ล" เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ และชื่อทางการค้าในกิจการโรงแรมของโจทก์จนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมานานแล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการไว้ในจำพวกที่ 42 สำหรับการให้บริการธุรกิจโรงแรมและโมเต็ลโดยมิได้จดทะเบียนในจำพวกธุรกิจบ้านจัดสรรและอาคารชุดไว้ ต่อมาจำเลยได้ใช้คำว่า "ORIENTAL SUITE" และ "โอเรียนเต็ลสวีท" เป็นชื่อโครงการอาคารชุดของจำเลย ธุรกิจอาคารชุดของจำเลยจึงมิใช่จำพวกสินค้าหรือบริการที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคแรก อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้ใช้คำว่า "ORIENTAL" เป็นชื่อทางการค้าและชื่อโรงแรมในการประกอบกิจการโรงแรมในระดับ 5 ดาว จนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากสาธารณชนทั่วไป โจทก์จึงเป็นเจ้าของและมีสิทธิในชื่อทางการค้า คำว่า "ORIENTAL" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลอื่นที่นำชื่อทางการค้าของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตจนทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นกิจการเดียวกับโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์และทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อต้องเสื่อมเสียประโยชน์
การที่จำเลยนำคำว่า "โอเรียนเต็ล" และ "ORIENTAL" ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าในกิจการโรงแรมของโจทก์มาใช้เป็นชื่อในโครงการอาคารชุดของจำเลยซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกิจการโรงแรมของโจทก์เพราะเป็นการให้บริการในเรื่องห้องพักอาศัยเช่นเดียวกัน ประกอบกับโครงการอาคารชุดของจำเลยกับโรงแรมของโจทก์ต่างตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะอยู่คนละฝั่งแต่ก็เยื้องกันไม่มากนับว่าอยู่ใกล้เคียงกัน ย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดต่อสาธารณชนว่ากิจการของจำเลยเป็นกิจการของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยที่ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการแอบอ้างเอาชื่อเสียงจากชื่อทางการค้าของโจทก์ไปหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยไม่สุจริตและเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องที่สมบูรณ์ก่อนคำสั่งอายัดและการละเมิดสิทธิจากปฏิบัติโดยไม่ชอบ
การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ได้ทำเป็นหนังสือและมีการบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ตอบรับทราบการโอนเป็นหนังสือแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้เกิดผลบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว อันมีผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1ในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างตกเป็นของผู้ร้องตั้งแต่วันที่การกีฬาแห่งประเทศไทยรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้อง ส่วนจำเลยที่ 1ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวอีกต่อไป การที่การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้องโดยอ้างว่ามีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาและได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้เป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องต้องได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะไปดำเนินการเรียกร้องตามสิทธิของตนไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินคืนจากโจทก์และขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดชั่วคราวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประวิงการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้รับประโยชน์
ตามบทบัญญัติมาตรา 37 และมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิตพ.ศ. 2535 มุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิตโดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ มิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้น หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ลงวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ เป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์แต่จำเลยไม่ใช้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับจำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดีและขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากการเยียวยาความเสียหายโดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าสินค้ามีเครื่องหมายการค้า การละเมิดสิทธิ และการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า
โจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย คำว่า "WAHL" โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยน ทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบ วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าก็เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตนการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้
แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" จะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL"ของโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า"WAHL" ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการกล่าวอ้างถึงการละเมิดสิทธิ และการไม่ส่งข้อโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ในการขอฝากขังครั้งแรก พนักงานสอบสวนผู้ร้องอ้างเหตุว่า ต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง 10 ปาก ส่วนในการขอฝากขัง ครั้งที่ 2 ผู้ร้องอ้างเหตุว่าต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง อีก 6 ปาก และในการขอฝากขังทั้งสองครั้งผู้ร้องยังอ้างว่าต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาอีกด้วย ซึ่ง จำเลยไม่คัดค้าน จึงมีเหตุอันควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผู้ร้องควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังได้ตามขอจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฎว่า ผู้ต้องหากล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาถูกทำร้ายขู่เข็ญให้ รับสารภาพมาก่อนหน้านั้นก็ไม่มีผลทำให้คำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่ ในกรณีดังกล่าวผู้ต้องหาชอบที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำร้ายตน ตามสิทธิที่มีอยู่ ส่วนคำรับสารภาพของผู้ต้องหาจะ รับฟังได้หรือไม่ เพียงใด และการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาลจึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองครั้ง เนื้อหาตามคำร้อง ของ ผู้ต้องหาที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งข้อโต้แย้งของผู้ต้องหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเมื่อเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 233,237 วรรคหนึ่ง,241 วรรคหนึ่งและวรรคสอง,243 วรรคหนึ่ง และมาตรา 245 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ต้องหากล่าวในคำร้องว่า การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าวเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังผู้ต้องหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตามคำร้องมิได้กล่าว โดยแจ้งชัดว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทมาตราใดและเพราะเหตุใด กรณีตามคำร้องย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 ศาลจึงไม่จำต้องส่งคำร้อง ของ ผู้ต้องหานี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต่างกันชัดเจน ไม่ทำให้สาธารณชนสับสน ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายหนึ่งคือ "CK" อ่านว่า "ซีเค" ส่วนอีกเครื่องหมายหนึ่งคือ "CK Calvin Klein" โดยคำว่า "CK" กับ "Calvin Klein" วางทับซ้อนกันรวมเป็นอักษร 13 ตัว อ่านแยกกันเป็น "ซีเค" และ "คาลวินไคลน์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน คือ ในส่วนคำสำคัญคือคำว่า "CCKK" นั้น มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ โดยอักษรตัวแรกคือ ตัว C และ อักษรตัวที่ 3 คือตัว K มีขนาดเท่ากัน อักษรตัวที่สองคือตัว C และอักษรตัวสุดท้ายคือตัว K มีขนาดใหญ่กว่า รวมเป็นตัวอักษร 4 ตัววางเรียงกัน แม้ตัวอักษรตัวที่ 2 คือตัว C และอักษรตัวที่ 4 คือ ตัว K จะมีขนาดใหญ่กว่าอักษรอีก 2 ตัว แต่ก็เห็นได้ชัดว่าระหว่างตัว C และ K ที่ขนาดใหญ่ขึ้นนั้นมีอักษรตัว K อีกตัวหนึ่งคั่นอยู่ จึงอ่านได้ว่า "ซี ซี เค เค" มิใช่ "ซีเค" อย่างของโจทก์แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ดังกล่าวมีรูปลักษณะตัวอักษร การวางตัวอักษร จำนวนตัวอักษร และเสียงเรียกขานที่แตกต่างกันจนสังเกตได้ชัดเจน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และไม่ปรากฏว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามรับจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8(10) และ (11) การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
of 13