คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลักษณะบริการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องจากบริการบัตรเครดิต: พิจารณาจากลักษณะบริการไม่ใช่การกู้ยืม
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่โจทก์ก็ได้ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องนำเงินสดไปชำระในทันที มีลักษณะเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกโดยโจทก์เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมรายปี ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) แม้โจทก์จะให้จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฏบัตรเครดิตก็ถือไม่ได้ว่าเป็นบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากโจทก์ได้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเป็นรายปี และค่าบริการในแต่ละคราวย่อมมิใช่การกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอันที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์
สินเชื่อบัตรเครดิตไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาธรรมดาที่ไม่มีชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลอื่นที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ย่อมประกอบกิจการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีสรรพสามิต: สถานบริการที่ไม่มีฟลอร์เต้นรำ แต่มีลักษณะคล้ายไนท์คลับ ต้องเสียภาษี
โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิตสำหรับปี 2546 ถึงปี 2551 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตเท่านั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นสถานบริการตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ไว้เป็นที่ชัดเจนแล้ว โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกันและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
แม้สถานประกอบการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาใช้เป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ โดยการให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสถานที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ ซึ่งเปิดในเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย อันมีลักษณะแตกต่างจากร้านอาหารหรือภัตตาคารโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้โจทก์ยังมีวัตถุที่ประสงค์ว่า ประกอบกิจการภัตตาคาร ห้องอาหาร บาร์ ไนท์คลับ ดังนั้น สถานประกอบการของโจทก์จึงจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนต์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5403/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'JobsDB' ไม่บ่งเฉพาะ ขัดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เนื่องจากเป็นคำผสมทั่วไปและเล็งถึงลักษณะบริการ
การนำคำที่มีความหมายมารวมกับตัวอักษรบางตัว เช่น การนำอักษรโรมันคำว่า Jobs ซึ่งแปลว่า "งาน" มารวมกับอักษรโรมัน DB ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่จะเป็นคำประดิษฐ์อันควรได้รับความคุ้มครองด้วยการจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (3) และเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าว เครื่องหมายบริการคำว่า "JobsDB" ของโจทก์จึงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรงขัดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ส่วนในเรื่องชื่อเต็มของนิติบุคคลนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดการใช้คำสั้นๆ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิติบุคคลหรือชื่อย่อของนิติบุคคลในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ อันจะทำให้บุคคลอื่นที่สุจริตเสียโอกาสในการใช้คำเดียวกันนั้น และเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลจะเห็นได้ว่า คำว่า "บริษัท" และ "จำกัด" ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลแต่อย่างใด คำว่า "JobsDB" จึงเป็นชื่อเต็มของโจกท์นั่นเอง ไม่ใช่ชื่อนิติบุคคลที่มีคำแสดงฐานะของนิติบุคคลประกอบด้วย ดังนั้น เครื่องหมายบริการคำว่า "JobsDB" ของโจทก์ไม่มีลักษณะพิเศษใดๆ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 (1) เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บริการเชื่อมต่อระบบเกมออนไลน์และบัตรเติมเงิน ลักษณะเป็นการบริการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม
การที่โจทก์ชำระเงินค่าแลกคะแนนเพื่อซื้อของสมมุติของผู้ถือบัตร @cash แก่บริษัท ฟ. โดยมีการหักลบเงินที่ต้องจ่ายให้แก่กันจากราคาหน้าบัตร @ cash ในอัตราร้อยละ 25 หรือร้อยละ 33 แล้วแต่กรณี จึงไม่ใช่การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง แต่มีลักษณะเป็นการหักค่าบริการที่โจทก์ได้ดำเนินการวางระบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์ระหว่างกัน เพื่อให้ผู้ถือบัตร @cash ของโจทก์สามารถเข้าเล่นเกมของบริษัท ฟ. ได้ รวมถึงการพัฒนาดูแลระบบหรือโปรแกรมระบบงานเพื่อประมวลผลต่าง ๆ ในการคัดแยกจัดสรรประโยชน์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. ตามปริมาณการใช้บัตร @cash ของโจทก์ที่ลูกค้าได้เข้าใช้บริการเกมออนไลน์ของบริษัท ฟ. อันมีลักษณะเป็นการกระทำใด ๆ ที่อาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า จึงเป็นการบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10)
การให้บริการระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. เป็นคนละขั้นตอนกับการที่โจทก์ขายบัตร @cash ของโจทก์ให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าซึ่งจะนำบัตรไปขายต่อให้แก่ผู้เล่นเกมออนไลน์ ค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นมูลค่าที่โจทก์ได้รับจากการให้บริการ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับมูลค่าที่โจทก์ได้รับจากการขายบัตรดังกล่าวให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้า โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่ได้รับจากบริษัท ฟ. นำส่งจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานบันเทิงเสียภาษีสรรพสามิต: แม้ไม่มีพื้นที่เต้นรำ แต่มีลักษณะบริการที่เข้าข่ายไนท์คลับ
แม้สถานบริการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะสถานประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ใช้สถานที่ในการให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ และเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กำหนดเพียงลักษณะของบริการที่อยู่ในความหมายของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียงหรือแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงเท่านั้น มิได้กำหนดว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับเต้นรำ และมิได้กำหนดประเภทของสถานบริการและนิยามคำว่า "เต้น" กับ "เต้นรำ" ดังเช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 (4) มีเจตนารมณ์เพื่อลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตและรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เยาวชนตื่นตัวสนใจศิลปะที่ละเอียดอ่อน และเพื่อให้การแสดงดนตรีกระทำได้โดยสะดวก แต่ทางราชการยังสามารถควบคุมได้ ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สถานประกอบกิจการของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ ประเภทที่ 09.01 ลักษณะเช่นเดียวกับไนท์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546