คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลักษณะเด่น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4131/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรเครื่องกรองน้ำ: ลักษณะเด่นต้องไม่เป็นที่ประจักษ์ ผู้มีความชำนาญต้องไม่สามารถคิดค้นได้ง่าย
จำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 422 ประเภทเครื่องกรองน้ำชนิดใช้สารกรอง โดยมีข้อถือสิทธิ คือ เครื่องกรองน้ำที่ประกอบด้วยถังทรงกระบอกที่ทำด้วยสเตนเลสคู่ ซึ่งในถังกรองถังที่ 1 จะมีชั้นของสารที่ใช้กรองคือ สารแอนทราไซส์ คาร์บอน กรีนแซนด์ และทรายหยาบ ในถังกรอง-ที่ 2 จะมีสารกรองที่เป็นเรซิน ถังกรองทั้งสองจะยึดติดกันด้วยแผ่นสเตนเลสเชื่อมต่อกัน โดยที่ปลายท่อส่งน้ำเข้าในถังกรองถังที่ 1 จะอยู่สูงกว่าปลายท่อส่งน้ำเข้าในถังกรองถังที่ 2 และที่ปลายท่อส่งน้ำต่าง ๆ จะมีท่อครอบที่เป็นรูพรุนรอบด้านครอบปิดอยู่ แม้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยจะไม่เหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นงานที่ปรากฎอยู่แล้ว แต่ลักษณะเด่นของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของจำเลยที่เป็นถังกรองคู่ที่มีท่อน้ำผ่านเข้าสู่ถังกรองซึ่งได้จัดระบบไว้โดยท่อส่งน้ำเข้าในถังกรองถังที่ 1 จะอยู่สูงกว่าปลายท่อส่งน้ำเข้าในถังที่ 2 ไม่ปรากฎว่าการใช้ถังกรองน้ำเพียงถังเดียวกับหลายถังจะเป็นผลทำให้การกรองน้ำดีขึ้น และตามสิทธิบัตรของประเทศฝรั่งเศสเป็นถังกรองน้ำที่ประกอบด้วยถังกรองคู่ผิดกับถังกรองน้ำตามสิทธิบัตรของจำเลยก็เพียงแบบ ขนาด และตำแหน่งการวางของถังเท่านั้น เมื่อมีการใช้ถังกรองน้ำเกินถังเดียว การที่มีท่อน้ำผ่านเข้าสู่ถังกรองโดยจัดระบบให้ท่อส่งน้ำเข้าในถังที่ 1 อยู่สูงกว่าปลายท่อส่งน้ำเข้าในถังที่ 2 ก็เป็นหลักธรรมดาที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า ตามธรรมชาติของเหลวย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำและที่ปลายท่อส่งน้ำทุกปลายจะมีท่อครอบที่มีรูพรุนคลุมอยู่โดยรอบ ซึ่งเศษขยะจะไม่สามารถเข้าสู่ท่อนำน้ำได้ทำให้ไม่เกิดปัญหาการอุดตันของท่อ ก็เป็นวิธีการที่ทราบกันโดยทั่วไป ไม่ปรากฎว่าเครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของจำเลยมีประสิทธิภาพในการกรองน้ำดีกว่าหรือสามารถแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่เครื่อง-กรองน้ำตามสิทธิบัตรของทั้งสามประเทศดังกล่าวไม่อาจแก้ไขได้แต่อย่างใดไม่เพียงพอที่จะถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้โดยง่ายต่อบุคคลผู้มีความชำระนาญในระดับสามัญของงานประเภทนั้นอันจะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นประดิษฐ์สูงขึ้นได้ ดังนั้น การออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 422 ให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 54 วรรคแรก โจทก์ย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้ตามมาตรา 54วรรคสอง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับให้โจทก์ยุติการผลิตเครื่องกรองน้ำของโจทก์ได้
การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ยุติการขายเครื่องกรองน้ำโดยจะดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่โจทก์นั้นเป็นการบอกกล่าวที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายที่จำเลยมีอยู่ในขณะบอกกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวม โดยเน้นลักษณะเด่นและเสียงเรียกขาน รวมถึงสินค้าและช่องทางการจำหน่าย
แม้การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้นต้องพิจารณาภาคส่วนทั้งหมดอันเป็นองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้าก็ตาม แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้ายิ่งกว่าภาคส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ความสำคัญในส่วนของเสียงเรียกขานว่าคล้ายคลึงกันเพียงใด ต้องพิจารณาถึงสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงสาธารณชนผู้ใช้สินค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและสินค้าดังกล่าวมีช่องทางการจำหน่ายเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้จะมีภาคส่วนที่เป็นรูปบางส่วนของโลกที่มีแผนที่ประกอบและมีภาพบางส่วนของดวงอาทิตย์ส่องแสงกับคำว่า EARTH & SUN แต่ภาพดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าเพราะภาพโลกและดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นพื้นรองรับตัวอักษรขนาดใหญ่คำว่า ES ซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนคำว่า EARTH & SUN ที่ปรากฏในเครื่องหมายมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตัวอักษรคำว่า ES และวางอยู่ที่มุมด้านล่างข้างซ้าย จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สาธารณชนจดจำได้ ดังนั้นภาคส่วนที่เป็นภาพโลก ดวงอาทิตย์ และคำว่า EARTH & SUN จึงไม่ใช่ภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า แม้ภาคส่วนดังกล่าวจะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านแต่เมื่อไม่ใช่ภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นจึงไม่ถึงกับทำให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่คล้ายกับของผู้คัดค้าน และเมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นอักษรคำว่า ES ซึ่งอยู่กึ่งกลางของเครื่องหมายจึงเป็นส่วนที่เด่นที่สุดทั้งมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาใช้คำดังกล่าวเป็นภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเพื่อให้สาธารณชนจดจำได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีอักษรคำว่า GS ขนาดใหญ่อยู่กึ่งกลางของเครื่องหมาย จึงเป็นภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเช่นเดียวกับคำว่า ES ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เห็นได้ว่ามีอักษรที่แตกต่างกันเพียงอักษรเดียว ทั้งรูปลักษณะการเขียนอักษรตัว E ในเครื่องหมายของโจทก์ก็เขียนในลักษณะเดียวกันและมีความคล้ายกับการเขียนอักษรตัว G ในเครื่องหมายของผู้คัดค้านอย่างมาก นอกจากนี้เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับของผู้คัดค้านด้วย เมื่อพิจารณาถึงจำพวกสินค้าและรายการสินค้าที่โจทก์นำมาจดทะเบียนซึ่งเป็นแบตเตอรี่เช่นเดียวกับสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน สาธารณชนผู้ใช้สินค้าเป็นผู้ใช้รถยนต์เช่นเดียวกัน ช่องทางจำหน่ายสินค้าเป็นสถานที่เดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าแบตเตอรี่รถยนต์สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าเป็นของโจทก์หรือผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาภาพรวมและลักษณะเด่น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ การแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว หาใช่เหตุที่จะไม่นำส่วนที่ได้แสดงปฏิเสธมาพิจารณาในภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำดังเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า " และ " ของผู้คัดค้าน นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าและต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีอักษรโรมัน "M" "X" อยู่หน้าอักษรโรมัน "N" "E" และ "C" โดยมีขนาดและลักษณะตัวอักษรเท่ากันทั้งหมด อักษรโรมัน "N E C" ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่ได้มีลักษณะเด่นกว่าอักษร "M X" เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านบางเครื่องหมายยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันสามารถแยกแยะได้โดยง่ายโดยเครื่องหมายของโจทก์มีอักษร "MX" อยู่ด้านหน้าย่อมเป็นจุดแรกที่ทำให้สาธารณชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี หรือ เอ็ม เอกซ์ เนค" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็น อี ซี" หรือ "เนค" แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประกอบกับว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้กับสินค้าเครื่องมือระบบตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล เครื่องมือส่งข้อมูลแบบแพ็คเก๊ทสวิทชิ่ง ฯลฯ เป็นต้น แม้สินค้าบางส่วนจะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่สินค้าของโจทก์และของผู้คัดค้านต่างเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกับมีราคาสูง และเป็นสินค้าคงทน ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ย่อมต้องศึกษาคุณสมบัติตลอดจนคุณภาพของสินค้ามาก่อนในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ย่อมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนในตัวสินค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้าน เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่มีอักษรต้องห้ามอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 เป็นการไม่ชอบ