คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลาพักผ่อน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองอาวุธปืนนอกหน่วยงานช่วงลาพักผ่อน ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
จำเลยนำอาวุธปืนเล็กกลซึ่งมีไว้ในราชการและนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้พร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนของกลางออกไปนอกหน่วยที่ตั้งซึ่งจำเลยประจำการอยู่ ติดตัวไปเป็นเวลาหลายวันโดยจะต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลออกไปต่างจังหวัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยในการยึดถืออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้เพื่อตนโดยมุ่งหวังจะใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นในทางก่อประโยชน์แก่ตนตลอดระยะเวลาดังกล่าว มิใช่เป็นการมีหรือใช้ในราชการเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการลาพักผ่อนของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 วรรคหนึ่ง และมิได้รับยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์พนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ และสิทธิลาพักผ่อน
พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 18(2) มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้ แต่หาได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้ว โจทก์ทั้งหกจะนำคดีมาฟ้องศาลไม่ได้
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตราของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสอง บัญญัติว่า"การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 ฯลฯ"ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพาะเหตุขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หรือเพราะเกษียณอายุแต่อย่างใด การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งหกออกจากงานเมื่อโจทก์ทั้งหกมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์หรือเกษียณอายุ จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตาม ข้อ 45 วรรคสอง ดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งหกหยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใดตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาดหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 21
เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้องโดยมิได้อ้างเหตุผลความเห็นธรรมแก่คู่ความแต่ประการใด ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2576/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาหยุดพักผ่อนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร
โจทก์ขาดงานโดย ลาหยุดพักผ่อนไม่ถูกต้องตาม ระเบียบเพราะไม่ยื่นใบลาต่อ ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจให้ลา และการลาไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสถานที่ที่โจทก์ทำงานจะไม่เคร่งครัดในการลา และโจทก์พูดขอลาทาง โทรศัพท์ต่อ ป. พนักงานของจำเลย แล้วข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ลาโดย ฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยหรือไม่เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยื่นใบลาโดย ฝ่าฝืนระเบียบ และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชามีผลเป็นการขาดงานแล้ว การที่โจทก์ได้ พูดโทรศัพท์ขอลาต่อ ป. ก็มิใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ขาดงานโดย มีเหตุอันสมควร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การพิสูจน์การลาพักผ่อนเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาค่าชดเชย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ความจริงโจทก์ไม่ได้ไปทำงานเพราะได้ขอลาพักผ่อนประจำปีต่อจำเลยแล้ว ดังนี้ข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องมีว่า โจทก์ได้ขอลาพักผ่อนประจำปีต่อจำเลยแล้ว การที่โจทก์ไม่ไปทำงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยจึงต้องขาดงานไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการชี้ขาดตัดสินคดีนอกฟ้องนอกประเด็นและเมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ขอลาพักผ่อนประจำปีต่อจำเลยแล้วหรือไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายไปทีเดียวได้จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับวันลาพักผ่อนประจำปี: ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของจำเลยเกี่ยวกับการนับวันลาพักผ่อน อ้างว่าระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้การว่าระเบียบนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว ปัญหาว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงต้องวินิจฉัยว่าระเบียบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขัดต่อกฎหมายหรือไม่ มิใช่วินิจฉัยเพียงว่าจำเลยวินิจฉัยตรงตามระเบียบดังกล่าวแล้วจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างเป็นอำนาจของนายจ้างดังนั้น การที่ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการลาของพนักงานฯ กำหนดให้พนักงานต้องยื่นใบลาจึงเห็นได้ว่าเพื่อให้การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานตรงกับความประสงค์ของพนักงานแต่ละคนยิ่งขึ้น และตามระเบียบก็ไม่ถือว่าวันลาพักผ่อนประจำปีเป็นวันลา ฉะนั้นวันลาพักผ่อนประจำปีก็คือวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั่นเอง
การที่ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการลาของพนักงานฯให้นับวันหยุดประจำสัปดาห์เข้าเป็นวันลาด้วยนั้น ไม่มีผลทำให้พนักงานไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์เหลืออยู่เลยเพราะหากพนักงานเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นช่วงๆ ไม่ให้คร่อมวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประจำสัปดาห์ก็คงเหลืออยู่บริบูรณ์ ส่วนในกรณีพนักงานเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีให้คร่อมวันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานก็ยังเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปี8 วันทำงาน สูงกว่าขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งกำหนดไว้ 6 วันทำงาน และสิทธิที่พนักงานมีตามประกาศฯ ดังกล่าว เป็นสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน หาใช่สิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีในวันทำงานโดยไม่จำกัดจำนวนวันไม่