พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทางจำเป็น: ที่ดินมีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยใช้ลำกระโดงและทางดิน ชาวบ้านใช้สัญจรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิขอทางจำเป็น
เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1103 มีเนื้อที่ 11 ไร่เศษ ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกออกเป็น 3 แปลง ทำให้ที่ดินของโจทก์อยู่ตรงกลาง ไม่มีทางจะออกไปสู่ถนนสาธารณะได้ นอกจากจะต้องผ่านออกทางลำกระโดงสาธารณประโยชน์ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์และจำเลย ที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันออกจำเลยได้ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ด้านข้างตลอดแนวของคอนโดมิเนียมมีลำกระโดงสาธารณะขนาดกว้างประมาณ 2 ถึง 3 เมตร เลียบยาวไปทางด้านหน้าของคอนโดมิเนียมไปถึงคลองสาธารณะ บริเวณด้านข้างของคอนโดมิเนียม จำเลยยังเว้นที่ไว้มีระยะห่างจากรั้วที่จะสร้างขึ้น 2 เมตร ตลอดแนว เมื่อปรากฏว่าลำกระโดงดังกล่าวยาวไปออกคลองสาธารณะได้ และชาวบ้านละแวกนั้นต่างใช้ลำกระโดงดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปมา และใช้ทางเดินซึ่งเป็นดินเลียบข้างลำกระโดงเดินออกไปสู่ถนนสาธารณะตลอดมา ที่ดินของโจทก์จึงมีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2493
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์ร่วมในคูหรือลำกระโดง: ศาลวินิจฉัยตามประเด็นแม้ฟ้องอ้างภารจำยอม
โจทก์ฟ้องบรรยายว่าคูหรือลำกะโดงรายพิพาทอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์จำเลย ถือตรงกึ่งกลางเป็นแนวเขต และต่างได้ใช้เป็นทางเรือสัญจรไปมาเข้าออกได้ด้วยกัน แม้ในตอนท้ายฟ้องจะมีว่าคูหรือลำกะโดงนี้ตกเป็นภาระจำยอมแล้ว ศาลก็วินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในคูหรือลำกะโดงรายนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7461/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลำกระโดงที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติ แม้ที่ดินโฉนดจะครอบคลุม ก็มิอาจหวงห้ามได้
สำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 120 และ 121 เป็นโฉนดที่ดินที่ออกให้ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี ร.ศ.125 โดยระบุอาณาเขตของที่ดินทั้งสองแปลงว่าด้านทิศใต้จดลำกระโดงและตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินก็ปรากฏว่าด้านทิศใต้ของที่ดินเป็นลำกระโดง แสดงให้เห็นว่าลำกระโดงมีมาไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลำกระโดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือมีผู้ใดขุดให้เป็นลำกระโดงและขุดตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่าในสมัยก่อนเจ้าของที่ดินที่ลำกระโดงผ่านจะใช้ลำกระโดงเป็นทางออกเพื่อขนผลิตผลทางการเกษตรออกไปสู่คลองชักพระและได้ความจาก ฉ. พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า ลำกระโดงมีระยะทางเริ่มต้นจากคลองชักพระไปจนถึงสวนของพยานซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ผู้อยู่อาศัยทั้งสองฝั่งของลำกระโดงจะแบ่งกันใช้น้ำและใช้ประโยชน์ในลำกระโดงร่วมกันจึงสอดคล้องกับคำเบิกความของ ว. และ บ. พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขณะเบิกความต่างมีอายุ 69 ปี และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำกระโดงที่พิพาทมาเป็นเวลานาน โดยพยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเป็นต้นมาชาวบ้านบริเวณดังกล่าวใช้ลำกระโดงพิพาทเป็นทางสัญจรและใช้ขนผลิตผลทางการเกษตรโดยทางเรือออกสู่ภายนอก พยานเห็นว่าลำกระโดงพิพาทมีมาตั้งแต่เกิดและได้ใช้ลำกระโดงดังกล่าวเป็นทางสัญจรเช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้นโดยไม่เคยมีบุคคลใดหวงห้าม เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายแล้วเห็นได้ว่าลำกระโดงสายนี้ยังมีสภาพที่ประชาชนสามารถใช้เรือสัญจรไปมาออกสู่คลอกชักพระได้โดยสะดวก จากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าประชาชนในละแวกนั้นได้ใช้ลำกระโดงสายนี้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว หากจะฟังว่าลำกระโดงสายนี้เกิดจากการขุดสร้างขึ้นเองของชาวบ้านทั้งสองฝั่งในที่ดินของตนเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำและการสัญจรไปมาก็ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินแต่เดิมได้ยกที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1304 แล้วโดยปริยาย หากจำต้องการแสดงเจตนาอุทิศให้หรือจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ เมื่อฟังว่าลำกระโดงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 จากเจ้าของเดิม แม้ลำกระโดงพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้กลับเข้าหวงกันหรือประชาชนใช้ประโยชน์จากลำกระโดงพิพาทน้อยลงจากเดิม ก็ไม่ทำให้ลำกระโดงพิพาทหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวอีก โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยึดถือเอาลำกระโดงพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองได้