คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลิขสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนด
การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มิได้มีบทบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7873/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์แจ้งความและขอบเขตความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ การทำซ้ำ vs. การเผยแพร่
เจตนารมณ์ของกฎหมายในการร้องทุกข์ก็เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและประสงค์จะให้มีการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และต่อมาได้นำเจ้าพนักงานตำรวจค้นร้านที่เกิดเหตุและจับจำเลยส่งพนักงานสอบสวน จากนั้น ร. จึงได้ร้องทุกข์อีกครั้ง โดยการร้องทุกข์ครั้งหลังมีข้อความระบุถึงตัวผู้กระทำผิดและลักษณะของความผิดชัดเจนถือได้ว่าคดีนี้มีการร้องทุกข์โดยชอบและทำให้การสอบสวนในเวลาต่อมาชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายโดยนำเอางานซึ่งมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องไปบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูล แล้วแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นสัญญาภาพและเสียง แพร่ภาพ เนื้อร้อง และทำนองทางจอมอนิเตอร์ และแพร่เสียงทางลำโพงสำหรับลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29 และ 69 แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ หรือสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับการแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูลนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นใหม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2), 28 (2) และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชน อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (3) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์แพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า โดยการติดตั้งอุปกรณ์และถ่ายทอดสัญญาณในอาคารพักอาศัย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ รับเสียงและภาพ ภาพยนตร์รายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วม แล้วแพร่หรือถ่ายทอดสัญญาณนั้นผ่านสายรับสัญญาณไปยังห้องพักที่จำเลยให้บริการ อันเป็นการจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์รายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาต และเมื่อจำเลยจัดทำเพื่อให้ผู้เช่าห้องพักในอาคารที่พักของตนได้รับชมโดยผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าซึ่งรวมถึงบริการสัญญาณเสียงและภาพตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำความผิดเพื่อการค้า
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวคือเพื่อให้ผู้เช่าห้องพักของตนได้รับฟังและรับชมรายการโทรทัศน์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ซึ่งตราบใดที่จำเลยยังคงแพร่เสียงแพร่ภาพก็ยังเป็นการกระทำความผิดฐานนี้ การกระทำความผิดทั้งสองวันตามฟ้องจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว หาใช่หลายกรรมต่างกันดังฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์ และอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในข้อเท็จจริงที่ศาลจะรับฟัง เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏต่อศาลเองว่างานที่ฟ้องร้องกันนี้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้ลงโทษทางอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยรับสัญญาณภาพและเสียงของโจทก์ร่วมที่ส่งสัญญาณไปตามสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง จากนั้นใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายสัญญาณเคเบิ้ลเข้าเครื่องถอดรหัสสัญญาณไปพ่วงต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ของจำเลย แล้วขยายสัญญาณโทรทัศน์แยกและต่อสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพไปยังห้องเช่าต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยในอาคารของจำเลย โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าห้องพักและค่าบริการจากผู้เช่าเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจัดทำงานแพร่ภาพแพร่เสียงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในงานปฏิทิน: การกำหนดค่าเสียหายและขอบเขตความรับผิดของผู้รับจ้าง
ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีต้องพิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่จากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยทั้งสองจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ทำหนังสือชื่อผลไม้พิพาทจนเป็นเหตุให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่าลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างสร้างสรรค์งาน ลิขสิทธิ์จึงเป็นของลูกจ้าง โดยจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยสถานภาพของโจทก์ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มได้ โจทก์จึงไม่อาจสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นนิติบุคคลไม่สามารถสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ด้วยตนเองได้หรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลูกจ้างโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ลูกจ้างโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท และมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่โจทก์ก็มีผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลและมาตรา 67 บัญญัติว่านิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจึงเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานด้วยตนเองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 ด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้ความสามารถในฐานะสำนักพิมพ์สร้างสรรค์งานด้วยการทุ่มเทความรู้ วิจารณญาณ ฝีมือ แรงงาน โดยขั้นตอนถ่ายรูปผลไม้ต้องคัดสรรผลไม้ที่มีผลสมบูรณ์จากจังหวัดระยองและจันทบุรีมาทำความสะอาด จัดวางตำแหน่งผลไม้จากนั้นมีทีมงานช่างถ่ายภาพรูปลงในฟิล์มใหญ่แล้วนำภาพไปสแกนโดยระบบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับผลไม้ประกอบรูปผลไม้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการจัดทำหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 แล้วภาพถ่ายรูปผลไม้จึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานภาพถ่าย ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้เป็นงานวรรณกรรมประเภทสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาหรือออกแบบรูปผลไม้โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปสั่งการให้จำเลยที่ 2 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรูปภาพผลไม้จากหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
ภาพผลไม้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2545 ของปฏิทินที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงมาจากหนังสือผลไม้ชุดที่ 1 จึงละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพถ่ายของโจทก์ ส่วนข้อมูลอธิบายผลไม้อันเป็นงานวรรณกรรมของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปฏิทินกับในหนังสือแล้วแตกต่างกัน จำเลยที่ 2 จึงมิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
โจทก์จัดทำหนังสือชื่อผลไม้ชุดที่ 1 แล้วยังพิมพ์งานปฏิทินชุดผลไม้ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ การที่จำเลยที่ 2 นำไปดัดแปลงย่อมทำให้โจทก์ขาดรายได้ การที่จำเลยที่ 2 แจกจ่ายให้ลูกค้าแม้จะมิได้ขายก็ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์และมิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวกับไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีอื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคสอง ทั้งยังขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 27 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์หลังหมดอายุสติกเกอร์อนุญาต ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
สติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่ตู้เพลงจำเลยหมดอายุเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวีดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอยู่ก่อนและสติกเกอร์ขาดอายุการใช้งานจึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์หลังหมดอายุสัญญาสิทธิการใช้งาน ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เผยแพร่งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมได้ถึงวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวิดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง มิใช่เป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และควบคุมกิจการเทปฯ โดยผู้ดูแลร้านไม่ใช่ผู้จัดการสถานประกอบการ
บทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้านที่เกิดเหตุโดยร้านที่เกิดเหตุมีนาย ส. เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว แสดงให้เห็นว่า ร้านที่เกิดเหตุมีผู้อื่นดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อยู่แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยผู้เสียหายที่ชักจูงให้เกิดความผิด อำนาจฟ้องคดีลิขสิทธิ์ไม่ชอบ
การที่ผู้เสียหายได้ใช้ให้ อ. สั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีละเมิดสิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดมาให้เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อนและพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาได้ทันที นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และไม่ทราบเรื่องที่ อ. ได้ติดต่อขอซื้อแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากจำเลยไว้ก่อน แต่เป็นการที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และไม่อาจถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง: การให้เช่าวีดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ไม่มีข้อห้าม ก็ถือเป็นความผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองโดยนำงานที่ทำขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด คือ
(1) มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่า
(2) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้เช่าหรือเสนอให้เช่าวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แม้โจทก์จะมิได้ระบุชื่อผู้ทำขึ้นก็ถือว่าครบองค์ประกอบแล้ว เพราะโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทำซึ่งวีดีโอซีดีภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 (1) แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 31
(3) ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยจะรู้หรือไม่อย่างไรเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา
(4) เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โจทก์จึงบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 (1)
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15 (3) บัญญัติให้สิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานของโสตทัศนวัสดุและภาพยนตร์ และมาตรา 28 (3) บัญญัติว่า การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นได้ว่า บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานแม้จะเป็นของแท้หรือชอบด้วยกฎหมายยังต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ดังนั้น เมื่อวีดีโอซีดีของกลางเป็นของที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังนำออกให้เช่าเพื่อหากำไรในทางการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 (1)
of 30