คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้างเสียเปรียบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับโครงสร้างเงินเดือนลดระดับตำแหน่ง ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบและขาดโอกาสปรับขึ้นเงินเดือน ถือเป็นความเสียหาย
การปรับโครงสร้างเงินเดือนของจำเลยก็ดี การย้ายโจทก์ให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นก็ดี เป็นอำนาจการบริหารจัดการของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่มีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหายหรือเสียเปรียบ
โจทก์เริ่มเข้าทำงานตำแหน่งบรรณารักษ์ ระดับ 4 วุฒิการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขณะที่จำเลยเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือนปี 2551 โจทก์ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ระดับ 4 สังกัดแผนกบำรุงรักษาสวน กองอาคารสถานที่ ถูกปรับให้อยู่ในตำแหน่งเดิมคือเจ้าหน้าที่ธุรการกองอาคารสถานที่ แต่ปรับลดระดับให้อยู่ในโครงสร้างเงินเดือนระดับ 2 ซึ่งคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในระดับ 2 นั้น ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือมัธยมมีประสบการณ์ ฐานเงินเดือนขั้นต่ำของระดับ คือ 7,700 บาท เงินเดือนขั้นสูงสุด 17,600 บาท และขณะจำเลยปรับโจทก์ให้อยู่ในระดับ 2 โจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ 22,960 บาท สูงกว่าเพดานเงินเดือนของโครงสร้างเงินเดือนระดับ 2 (ใหม่) การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ กองอาคารสถานที่ เมื่อจำเลยปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือน จำเลยตีค่างานดังกล่าวอยู่ในระดับ 2 แล้วจำเลยปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ โดยให้โจทก์อยู่ในระดับ 2 โดยโครงสร้างเงินเดือนของโจทก์เกินเพดานระดับ 2 ถึง 5,360 บาท แม้จำเลยจะมิได้ปรับลดเงินเดือนของโจทก์หรือทำให้เงินเดือนของโจทก์ลดลง แต่ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสได้ปรับขึ้นเงินเดือนในอนาคตอย่างแน่แท้ เว้นแต่จำเลยจะปรับฐานเงินเดือนขั้นสูงสุดให้สูงกว่าเงินเดือนที่โจทก์ได้รับอยู่ ทั้งที่จำเลยสามารถที่จะปรับย้ายโจทก์ให้ไปทำงานอยู่ในแท่งค่างานที่ใช้คุณวุฒิปริญญาตรีเท่ากับระดับตำแหน่งที่รับโจทก์เข้ามาทำงานได้ แต่จำเลยมิได้กระทำ การปรับโครงสร้างเงินเดือนของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบและได้รับความเสียหายจากการขาดโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน
ปัญหาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาข้างต้นประกอบข้อเท็จจริงที่ยุติต่อไป