คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
วงศ์ญาติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีขับไล่ที่เกี่ยวข้องกับวงศ์ญาติและบริวาร โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้ออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยเป็นที่สุดว่าที่ดินเป็นของโจทก์และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องมิใช่บริวารจำเลย แต่เป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินได้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติและบริวารจำเลยที่ถูกฟ้องขับไล่เมื่อที่ดินมีราคา 97,950 บาท และอาจให้เช่าได้เดือนละ 2,500 บาท โจทก์และจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยและยกคำร้องศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ที่ผู้ร้องฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องโดยซื้อที่ดินมาจากโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2515 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกตามพินัยกรรม: ผู้จัดการมรดกต้องซื้อที่ดินทดแทนเพื่อประโยชน์ของวงศ์ญาติ
พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอน พระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2481)
พินัยกรรมซึ่งเจ้ามรดกทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2460 และมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์สลักหลังท้ายพินัยกรรมให้เป็นอันใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกให้ผิดจากพินัยกรรม ดังนี้ พินัยกรรมนั้นย่อมมีผลตามกฎหมายที่ยังใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นอยู่ได้ตลอดมา ศาลจะพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกให้ผิดจากพินัยกรรม เป็นการขัดพระบรมราชโองการหาได้ไม่
พินัยกรรมซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการดังกล่าวแล้วกำหนดให้ที่ดินที่ระบุของเจ้ามรดกคงเป็นสมบัติของเจ้ามรดก อยู่เสมอไปและให้มีผู้ดูแลรักษาที่ดินนั้นไว้เป็นที่อยู่อาศัยแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้แต่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ หากจำเป็นต้องขายหรือแลกเปลี่ยนที่ดินด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้จัดการ(มรดก)เอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในพินัยกรรมโดยดีที่สุดที่จะทำได้ ดังนี้ เมื่อผู้จัดการมรดกขายที่ดินดังกล่าวไปก็มีหน้าที่ต้องนำเงินไปซื้อที่ใหม่เพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้ามรดกได้อยู่อาศัยตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จะนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมาแบ่งให้แก่ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่ใหม่เอาเองหาได้ไม่เพราะมีผลเท่ากับถือเอาว่าทายาทผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นผู้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งทำให้ที่ดินที่กำหนดไว้ตามพินัยกรรมให้เป็นที่อยู่อาศัยของวงศ์ญาติต้องสลายตัวไป แม้จะมีเจตนาแบ่งเงินให้ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เอาเอง ที่ดินที่ซื้อใหม่ก็เปลี่ยนสภาพมิใช่เป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติอาศัยอยู่ แต่กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทผู้ซื้อแต่ละคนซึ่งมีอำนาจหวงกันมิให้ทายาทหรือวงศ์ญาติอื่นๆ เข้าไปอยู่อาศัยอันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม
การที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมไปและต้องเอาเงินที่ขายได้จัดหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์นั้นเป็นการหาที่ดินมาแทนที่ดินที่ขายไปซึ่งผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่หาใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นใหม่ในขณะนี้นอกเหนือจากข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้
ข้อความในพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ที่กำหนดให้ที่ดินที่ระบุไว้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาตินั้น เจ้ามรดกมีเจตนาที่จะให้ที่ดินนั้นเป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติ ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยจะได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปซึ่งหมายถึงทั้งวงศ์ญาติที่มีตัวอยู่ในขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมและที่เกิดมาในเวลาข้างหน้า โดยไม่ประสงค์ให้ใครถือเอาที่ดินนั้นเป็นของตน และเพื่อมิให้ขัดกับหลักกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์และมรดกและให้มีผลบังคับได้ เจ้ามรดกจึงได้นำพินัยกรรมขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชโองการเพื่อจะได้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไปโจทก์เป็นเหลนของเจ้ามรดกแม้จะเกิดหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ ก็เป็นวงศ์ญาติคนหนึ่งที่มีส่วนจะได้รับประโยชน์ในการเข้าอยู่อาศัยในที่ดินตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกที่มิได้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมเพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์ในฐานะวงศ์ญาติคนหนึ่งที่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้จัดการมรดกได้
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11-16/2515)