คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
วันลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเลื่อนตำแหน่งโดยอิงวันลา ไม่ขัดต่อระเบียบและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ศาลฎีกายืนตามศาลแรงงานกลาง
โจทก์อุทธรณ์ในข้อที่โจทก์มิได้บรรยายเป็นข้อหาไว้ในคำฟ้องแม้ชั้นพิจารณาจำเลยจะเป็นฝ่ายนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและ ศาลแรงงานกลาง รับวินิจฉัยให้ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วใน ศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย ระเบียบการธนาคาร ออมสิน ฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสิน กล่าวถึงสิทธิของพนักงานธนาคารออมสินที่มีเวลาทำงานในธนาคาร ออมสิน เป็นระยะเวลานานเท่าใดแล้วมีสิทธิลาป่วย ลากิจโดยได้รับเงินเดือนเต็มหรือกึ่งหนึ่งหรือไม่ได้รับเงินเดือนในปีหนึ่งมีจำนวนกี่วัน โดย ระเบียบมิได้กล่าวถึงเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้มีระดับสูงขึ้น การที่จำเลยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งโดย กำหนดว่าต้องมีวันลาไม่เกิน 54 วัน ภายใน 3 ปีนับถึงวันปิดรับสมัคร จึงไม่กระทบถึงสิทธิของพนักงานจำเลย และไม่ฝ่าฝืนระเบียบการธนาคาร ออมสิน ฉบับที่ 180.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2235/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวันลา ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
ระเบียบข้อบังคับและสภาพการจ้างว่าด้วยวันลาและหลักเกณฑ์การลาได้กำหนดไว้ว่าการลาหยุดงานทุกครั้งต้องยื่นใบลาและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาและได้รับอนุมัติเสียก่อน เว้นแต่กรณีป่วยกะทันหันหรือมีเหตุฉุกเฉิน การลากิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาถือว่าขาดงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าการที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไปร่วมประชุมจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นเป็นกรณีมีความจำเป็นโดยฉุกเฉินหรือเร่งด่วนแต่อย่างใดทั้งลูกจ้างทราบล่วงหน้ามาก่อนแล้วย่อมมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ และระเบียบของนายจ้างได้การที่ลูกจ้างขาดงานไป 4 วันโดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบและไม่แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม