คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
วินิจฉัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 558 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากยังไม่แน่นอนว่าผู้เสียภาษีต้องรับผิดจริงหรือไม่
พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เคยออกแบบแจ้งการประเมินรวม 19 ฉบับ ให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่หลงลืมมิได้ลงลายมือชื่อ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมินแก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 เพื่อป้องกันการโต้แย้งจากจำเลยว่าแบบแจ้งการประเมินเดิมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยได้โต้แย้งแบบแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีอากรที่ขาดฉบับปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแล้ว ก็เท่ากับจำเลยได้ยอมรับรองแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 นั้นโดยปริยาย หลังจากรับการประเมินครั้งใหม่แล้ว จำเลยยังยื่นอุทธรณ์การประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยขอถือตามคำอุทธรณ์ฉบับเดิมจึงชอบที่โจทก์ที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ สิทธิในการอุทธรณ์ของผู้นำของเข้าเช่นจำเลยมิได้จำกัดไว้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเข้าทุกกรณี เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนที่จะมีการนำคดีมาสู่ศาล เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย จึงยังไม่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามที่ถูกประเมินหรือไม่ และถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าคำอุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) ด้วย แต่การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องราคาสินค้าที่ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณค่าอากรขาเข้าเป็นหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้านั้นมาตรา 79/2 กำหนดฐานภาษีไว้ตามมูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฉะนั้น ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร เมื่อยังไม่แน่นอนว่ามูลค่าของสินค้านำเข้าเป็นเท่าใด ความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่แน่นอนไปด้วย กรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7233/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย: ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้แม้จำเลยมิได้อ้างเหตุนี้โดยตรง
แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ปี ถึง 18 ปี ขึ้นต่อสู้โดยตรง แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ทุกประเด็น การไม่วินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทำให้คำพิพากษาไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษา ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ คงวินิจฉัยแต่อุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6), (8) ให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจฎีกาในปัญหาดังกล่าวนี้ต่อมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน: การวินิจฉัยอำนาจพิจารณาคดีแรงงานต้องโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง
คดีนี้จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 9 เพราะมูลคดีตามฟ้องมิได้เป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาจ้างดังฟ้อง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสงขลา เท่ากับจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานภาค 9 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ ชอบที่ศาลแรงงานภาค 9 จะต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 9 หรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3128/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน: ต้องส่งเรื่องให้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนหากมีข้อโต้แย้งเรื่องอำนาจศาล
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์ฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางเป็นประเด็นข้อพิพาทมาแต่ต้น กรณีนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว ศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟ้องคดีนี้ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางโดยไม่ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนแก่โจทก์ อันเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) มาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2931/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยความผิดของจำเลยโดยศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ประเด็นความผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาโดยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ต้องวินิจฉัยปัญหานี้อีกครั้งหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จึงถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 245 วรรคสอง ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงใหม่เกินเลย
การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี ริบของกลางและให้จำเลยใช้เงินจำนวน 8,770,000 บาท แก่โจทก์ร่วม เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวน 7,760,000 บาท แก่โจทก์ร่วม เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยคดีโดยอาศัยการหยิบยกสรุปข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อันเป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำเบิกความของพยานนั้น เป็นการฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มีลักษณะบิดเบือนเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาหลังเลือกตั้ง: วินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัครหลังการเลือกตั้งไม่ได้
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้สมัครในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา 32 โดยให้มีคำสั่งว่า ผู้สมัครเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ กับมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในกรณีที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิกถอนการรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้รับสมัคร ซึ่งทั้งสองกรณีผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น และในกรณีที่เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ก็ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพิ่งถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) และมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งกับให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาที่จะสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน: อธิบดีศาลแรงงานกลางมีอำนาจวินิจฉัยเด็ดขาด หากมีปัญหาเรื่องอำนาจพิจารณา
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม.9 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด" การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานและมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้นแสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่ง ม.9 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยศาลชั้นต้นหามีอำนาจวินิจฉัยไม่ การที่ศาลชั้นต้นเป็นผู้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล: ศาลต้องปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ. วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ก่อนมีคำสั่ง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติถึงกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ให้ต้องปฏิบัติ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
of 56