คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
วิศวกร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของวิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมงาน กรณีออกแบบและควบคุมงานผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการก่อสร้าง
ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานช่วงยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานให้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างสะพานตามที่วิศวกรผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้อง แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบให้ปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพาน ซึ่งจะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัว พื้นผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกตัวในที่สุด และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์มาเป็น ที.อี.ยู. ตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. เกินกว่าที่ปูด้วยสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์31,821,821.80 บาท และหลังจากเปิดทดลองใช้สะพานแล้ว ปรากฏว่าระบบพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก ในที่สุดต้องรื้อพื้นผิวจราจรออกทั้งหมดและทำพื้นผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่ เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน 139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59 บาทซึ่งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าว เกิดจากความบกพร่องของวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งสองฐานะตามข้อผูกพันของสัญญาแต่ละฉบับซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกัน หาใช่เป็นการซ้ำซ้อนไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าใช้วัสดุชนิดใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 2 ซึ่งตามข้อ 17 บัญญัติว่า "ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย..." หมายถึง ผู้ว่าการเป็นผู้แทนโจทก์ในการกระทำกิจการต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลย ผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 70วรรคสอง (มาตรา 75 เดิม)
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาด ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งสองฉบับระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จะร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบตามข้อกำหนดในสัญญา และในสัญญาไม่มีข้อความตอนใดแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนไว้ แต่กลับเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า "วิศวกร" ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์การทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองเป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเอง ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้
ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ทั้งทางเทคนิคและทางเศรษฐศาสตร์อย่างดีที่สุดและเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพวิศวกรด้วยความชำนาญ เอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียรและจะต้องดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุดในการออกแบบสะพานให้สามารถก่อสร้างและใช้งานได้เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานควบคุมการก่อสร้างที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทางด้านวิชาชีพนานาชนิด ต้องดำเนินงานด้วยความชำนาญเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียร และเป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุด โดยต้องตรวจสอบแบบก่อสร้างข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ นำไปใช้ในงานก่อสร้างได้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ในกรณีที่ปรากฏข้อผิดพลาดในการออกแบบ ต้องเสนอแนะต่อโจทก์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงใช้ประโยชน์ได้สูงสุดการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์เป็นสารกันน้ำซึมบนพื้นผิวสะพานที่เป็นเหล็กนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ควรที่จะศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป เพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้ก็เป็นเหล็กอากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์ แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้ง จึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่ามาสติคแอสฟัลท์ ไม่สามารถใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานได้ นอกจากนั้นหัวหน้าวิศวกรประจำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโครงการของโจทก์ มีข้อความเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาสติค แอสฟัลท์ ว่าเมื่อพิจารณาถึงการรับน้ำหนักและความลาดชันของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานครแล้ว เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ของการอ่อนตัวของมาสติค แอสฟัลท์ซึ่งจะทำให้ผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนแรกของการเปิดใช้งาน การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้สารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์โดยไม่ได้ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่จะทำให้วัสดุนั้นอ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปรวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับความร้อนสะสมของโครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็กในประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยว่าสมควรจะใช้วัสดุนั้นเป็นสารกันน้ำซึมหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดพลาด บกพร่อง ไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดีแม้ผู้รับเหมาจะได้ทักท้วง แต่วิศวกรผู้ควบคุมงานก็ยังคงยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ และให้ผู้รับเหมาส่งตัวอย่างวัสดุพร้อมแผนงานเพื่อตรวจสอบ ยังคงเป็นสารกันน้ำซึมได้ เพียงแต่ต้องปรับปรุงบ้าง และในเดือนเมษายน 2530 ต่อมาจึงยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสม รวมระยะเวลาที่เสียไปถึง 9 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าแก่โครงการก่อสร้างโดยเฉพาะระยะเวลาการทดสอบหาสารกันน้ำซึมชนิดใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 บกพร่องต่อหน้าที่ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน
การว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบและให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานนั้นมุ่งประสงค์ให้การก่อสร้างสะพานสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ตามความมุ่งหมาย ที.อี.ยู. โดยความเห็นชอบของวิศวกรดังกล่าว แต่ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานซึ่งทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วมิได้ทำการทดสอบให้แน่ชัด เมื่อสาเหตุของความเสียหายทั้งหมดเกิดจากความบกพร่องในการออกแบบและควบคุมงานเกี่ยวกับการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย การที่ผู้ออกแบบจะเลือกใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง ผู้ออกแบบควรที่จะต้องทราบถึงคุณสมบัติของวัสดุนั้นว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ควรจะทดสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อนที่จะกำหนดให้ใช้วัสดุนั้น การกำหนดใช้วัสดุให้ถูกต้องกับการคิดค้นประดิษฐ์วัสดุขึ้นใหม่เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 รับออกแบบ จำเลยที่ 1 ก็ต้องกำหนดหรือหาวัสดุที่จะใช้งานได้กับแบบที่ออกมาหากไม่สามารถหาวัสดุดังกล่าวได้เพราะไม่มีในประเทศไทยหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำการทดสอบการใช้งาน จำเลยที่ 1 ก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบและปรึกษาหาทางแก้ไขมิใช่กำหนดวัสดุหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุโดยเพียงแต่เข้าใจว่าน่าจะใช้งานได้หรือทำการทดสอบผิวเผิน แล้วทำการก่อสร้างไปจนเกิดความเสียหายขึ้น
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมงานให้งานก่อสร้างสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ เมื่อการออกแบบกำหนดให้ใช้สารกันน้ำซึมครั้งแรกไม่ถูกต้องแล้วมีการเปลี่ยนมาใช้สาร ที.อี.ยู. โดยวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานเห็นชอบโดยไม่ตรวจสอบหรือทดสอบให้แน่ชัดเสียก่อน จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นคนเลือกสรร ที.อี.ยู. และมีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ ส่วนการที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. ก็เป็นสิทธิในส่วนของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมิได้ฎีกา แต่เนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247
จำเลยทั้งหกก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยทั้งหกจึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกหลังจากผ่านขั้นตอนอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้วได้ และการฟ้องคดีของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของวิศวกรและผู้รับเหมาต่อความเสียหายของผิวจราจรสะพานอันเกิดจากการออกแบบ, วัสดุ, และการก่อสร้าง
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างออกแบบผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สารกันน้ำซึม และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้งานได้หรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ชำรุดบกพร่อง อันมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาดซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจ้างทั้งสองฉบับระบุเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า "วิศวกร" ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์กรทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองเป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเองไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้
ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติคแอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปเพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้เป็นเหล็กอากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติคแอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติคแอสฟัลท์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบงานแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติคแอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดี เมื่อผู้รับเหมาทักท้วงก็หาได้รีบทำการตรวจสอบหรือทดสอบให้ได้ความจริง แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้ง จึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่าไม่เหมาะสม ย่อมเป็นความผิดพลาดบกพร่องไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของวิศวกรออกแบบต่อเติมอาคารที่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตจากความผิดพลาดในการคำนวณโครงสร้าง
จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้คำนวณโครงสร้างการรับน้ำหนักของอาคารจำเลยที่ 9 ในการปลูกสร้างย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารดังกล่าวได้กำหนดการรับน้ำหนักไว้เพียง 4 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน แต่จำเลยที่ 1 กลับมาคำนวณออกแบบต่อเติมอาคารโดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารเดิมรับน้ำหนักส่วนที่ต่อเติมไม่ได้และยังใช้ฐานรากและเสาในแนวซีซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนักไว้เพียง 2 ชั้นเป็นจุดเชื่อมต่ออาคารเดิมและอาคารที่ต่อเติม ทำให้น้ำหนักของอาคารทั้งหมดถ่ายเทลงสู่เสาและฐานรากในแนวซีให้ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความและยอมรับในฎีกาว่าได้ดูแบบแปลนของอาคารเดิมดูสภาพของอาคารที่มีอยู่เดิมและทราบว่าเสาในแนวซีต้นที่ 176 มีขนาด และส่วนประกอบผิดไปจากแปลน เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามวิธีการอันพึงกระทำในการออกแบบเพราะเดิมจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกแบบ เมื่อพบเห็นสภาพอาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดว่าโครงสร้างอาคารเดิมมั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักอาคารในส่วนที่ต่อเติมได้อีกหรือไม่ โดยการสอบถามหรือขอข้อมูลเดิมจากสถาปนิกและวิศวกรที่ออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเดิม แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุที่อาคารจำเลยที่ 9 พังทลายจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 คำนวณออกแบบโครงสร้างและการรับน้ำหนักของอาคารไว้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบกับมาตรา 238
กรรมการของจำเลยที่ 9 ตลอดจนจำเลยที่ 15 มิได้เป็นวิศวกร ย่อมไม่อาจทราบถึงความมั่นคงแข็งแรงของอาคารจำเลยที่ 9 ว่าจะต่อเติมได้หรือไม่และใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการประกอบกิจการโรงแรมต้องต่อใบอนุญาตทุกปีและจำเลยที่ 9 ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงแรมตลอดมา ก่อนออกใบอนุญาตในแต่ละปีจะมีเจ้าพนักงานทั้งของเทศบาลและของจังหวัดมาตรวจสอบอาคารในด้านความมั่นคงปลอดภัย ความสะอาด การระบายอากาศและสุขอนามัย ซึ่งเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่เคยทักท้วงว่าอาคารจำเลยที่ 9 ไม่มั่นคงปลอดภัยแต่อย่างใด ประกอบกับกรรมการของจำเลยที่ 9 ตลอดจนจำเลยที่ 15 ล้วนแต่ทำงานหรือใช้ประโยชน์อยู่ในอาคารดังกล่าวทั้งสิ้นหากทราบว่าอาคารไม่มั่นคงปลอดภัยย่อมจะไม่มีผู้ใดยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปทำงานหรือใช้ประโยชน์ในอาคารจำเลยที่ 9 อย่างแน่นอน เพราะทุกคนย่อมรักชีวิตของตนยิ่งกว่าผลประโยชน์รายได้ทางธุรกิจ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จึงยังมีความสงสัยตามสมควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
การตรวจคำขอก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 28 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณที่ได้ยื่นมาพร้อมคำขอตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 หรือมาตรา 24 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำขอก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยที่ 9 มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเป็นผู้ออกแบบคำนวณโครงสร้างและลงชื่อรับรองมาด้วย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมไม่จำต้องตรวจแบบแปลนหรือรายการคำนวณโครงสร้างเพื่อให้ทราบว่าโครงสร้างอาคารเดิมมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักอาคารส่วนต่อเติมได้หรือไม่ เพราะเป็นรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ทั้งจำเลยที่ 1 ยังบันทึกหมายเหตุไว้ในใบปะหน้าการคำนวณว่าได้ทำการตรวจสอบดูแล้วฐานรากและส่วนของอาคารเดิมสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมได้มาแสดงด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตรวจคำขอต่อเติมอาคารจำเลยที่ 9 และทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ 7 และที่ 8 ว่าควรอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ต่อเติมอาคารได้ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 นั้น ได้พิจารณาและสั่งอนุญาตให้ต่อเติมได้ตามความเห็นที่เสนอขึ้นมาโดยชอบของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ทั้งไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นเจตนาพิเศษซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไร จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ย่อมไม่มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 28 กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งในการคำนวณเกี่ยวกับรายละเอียดของวิศวกรรมนั้นวิศวกรผู้คำนวณและออกแบบจะต้องปฏิบัติตามค่ากำหนดที่ปรากฏในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ส่วนวิศวกรของเทศบาลผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมนั้นไม่ต้องตรวจในรายละเอียดของหลักวิศวกรรมศาสตร์ เพียงแต่ต้องตรวจและพิจารณาว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 แล้ว เป็นการออกมาเพื่อรองรับมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้กฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 28 ก็ตาม โจทก์จะอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ตรวจพิจารณาคำขออนุญาตดัดแปลง ต่อเติมอาคารของจำเลยที่ 9 ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงรองรับ จึงไม่อาจนำความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาใช้ไม่ได้
จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ย่อมมีความรู้ความชำนาญในการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารอันเป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป การที่จำเลยที่ 1 รับจ้างออกแบบคำนวณต่อเติมและควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารเกิดเหตุ ซึ่งเป็นโรงแรมอันเป็นอาคารสาธารณะที่มีประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นเป็นพิเศษตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยต้องออกแบบและคำนวณโครงสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่จำเลยที่ 1 กลับประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโดยไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและออกแบบไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ อันเป็นเหตุให้อาคารเกิดเหตุพังทลายทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พฤติการณ์และสภาพความผิดของจำเลยที่ 1 จึงร้ายแรงสมควรลงโทษสถานหนัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับเหมา เจ้าของที่ดิน และวิศวกรควบคุมงาน กรณีอาคารก่อสร้างสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินข้างเคียง
แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะเป็นผู้เลือกหาจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428
จำเลยที่ 7 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมก่อสร้างอาคาร มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดและตามหลักวิชาการ ถ้าจำเลยที่ 7 ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขุดดินทำฐานรากของอาคารตามหลักวิชาการด้วยความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว ย่อมจะไม่เกิดผลเสียหายแก่ตึกแถวของโจทก์ จึงถือว่าจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 7 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15335-15336/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิศวกรควบคุมงานบกพร่อง ออกแบบไม่สมบูรณ์ เสี่ยงอันตรายต่อบุคคลอื่น
จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานของห้าง ช. มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน แต่กลับมอบหมายให้ อ. และ ส. ซึ่งไม่ใช่วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานแทน โดยตนเองไปควบคุมงานเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีเวลาพอในการอ่านทำความเข้าใจแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบไว้โดยไม่สมบูรณ์จึงไม่มีการปรึกษาหารือกันในส่วนของรางน้ำ คานและหัวเสาที่ยังขาดรายละเอียด ซึ่งในฐานะวิศวกรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 สามารถรู้ได้ว่ายังขาดรายละเอียดอย่างไรเพื่อจัดการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ปลอดภัยเมื่อก่อสร้าง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลของการไม่ควบคุมงานทุกวันได้ว่า ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการก่อสร้างอาคารชำรุด วิศวกรควบคุมงานต้องรับผิดร่วมกับผู้ก่อสร้างและเจ้าของโครงการ
การที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าอาคารทาวน์เฮาส์ที่ขายให้โจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตจากทางราชการ ยังยืนยันต่อโจทก์ว่าอาคารดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาอย่างดีถูกต้องตามหลักวิศวกรรมไม่จำต้องมีเสากลางอาคาร จึงเป็นการจงใจปกปิดข้อความจริงเพื่อจูงใจให้โจทก์ซื้ออาคาร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อเข้าอยู่อาศัยในอาคารได้ 1 ปีเศษ อาคารเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตรวจสอบแล้วพบว่าฐานรากของอาคารเอียงและบิดตัว ตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมากทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้าง อาคารดังกล่าวไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยควรจะทุบและรื้อถอน ซึ่งโจทก์ได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 4 เป็นฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบเพื่อให้อาคารมีความมั่นคงและปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งเข้าควบคุมงานก่อสร้างอาคารและขออนุญาตก่อสร้างจากทางราชการให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือแม้จะฟังว่าลายมือชื่อวิศวกรและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงาน และยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อสำนักงานเขต โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารและค่าสูญเสียตัวอาคารอันทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารหรือนำอาคารออกขายให้แก่ผู้อื่นแม้โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง