พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจอนุญาตอุทธรณ์ในคดีเยาวชน: อธิบดีศาลเยาวชนฯ มีอำนาจเฉพาะเขตศาลตนเอง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 122 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจพิเศษเฉพาะแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้คดีใดอุทธรณ์หรือไม่ แทนที่จะเป็นอำนาจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนั้นดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น การที่มาตรา 122 ใช้ถ้อยคำว่า "...อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว..." จึงมิได้หมายความว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ การระบุชื่อตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งก็เป็นเพียงการระบุชื่อตำแหน่งของผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ของแต่ละศาลให้ถูกต้องกับศาลนั้น ๆ เท่านั้น หากแปลความว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ด้วย ก็จะมีผลทำให้คดีที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีผู้พิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ถึง 2 คน และได้รับการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ซึ่งแตกต่างจากคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอันเป็นการได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกัน แม้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 20 จะกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้รับผิดชอบงานของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ก็เป็นความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่เฉพาะที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมระบุไว้เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 122 ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์จึงต้องเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: คดีผิดสัญญาหมั้น - ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนพิพากษา
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยยื่นคำร้องว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาให้ส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลคดีเยาวชนและครอบครัว: การพิจารณาคดีคนไร้ความสามารถที่มีภูมิลำเนาในเขตอำนาจศาล
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลคดีเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่า ช.เป็นคนไร้ความสามารถและให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล ช.เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องและคำร้องที่ขออนุญาตให้พิจารณาคดีในศาลที่มูลคดีเกิดว่า ช.เกิดที่กรุงเทพมหานครและมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครช.ป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้เป็นบุคคลวิกลจริต อาการวิกลจริตและความบกพร่องทางสมอง และสติปัญญาของ ช. มีอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ดังนี้เมื่อ ช. อยู่ในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครเหตุแห่งการวิกลจริต ซึ่งเป็นมูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง จึงชอบที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จะรับคำร้องขอไว้พิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว: ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
พระราชบัญญัติญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา12กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย เมื่อมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลชั้นต้นขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาศาลฎีกาจึงส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว: คดีลาภมิควรได้เกี่ยวข้องทรัพย์สินผู้เยาว์
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะขายที่ดินคืนจากจำเลยทั้งสองฐานลาภมิควรได้โดยอ้างว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญาจะขายที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะ ส. ร. และจำเลยที่ 2 คบคิดหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไปวางเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้แล้วทำสัญญาจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญา โจทก์เข้าทำสัญญาทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพราะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่พิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงเป็นคำขอให้บังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ขณะทำสัญญา อันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ซึ่งจะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยความสามารถ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
จำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
จำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจปกครองบุตร: กรณีผลตรวจ DNA ขัดแย้งกับข้อตกลงในทะเบียนหย่า และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6