คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สกุลเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, อายุความ, สกุลเงิน, การบังคับคดี: ข้อพิพาทซื้อขายระหว่างประเทศและการคำนวณหนี้
คำแปลเป็นภาษาไทยของหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแพ่งด้วยซึ่งไม่ตรงกับข้อความในภาษาอังกฤษในต้นฉบับ ต้องถือข้อความภาษาอังกฤษในต้นฉบับที่แท้จริงที่ดำเนินคดีแพ่งด้วยเป็นสำคัญ
สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้ามีข้อตกลงในเรื่องการใช้สิทธิทางศาลว่า ศาลในประเทศของผู้จัดหาสินค้า (หมายถึงโจทก์) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดจากข้อพิพาททางกฎหมายใด ๆ อย่างไรก็ตามถ้าผู้จัดหาสินค้าอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลในประเทศจของตัวแทน (หมายถึงจำเลย) ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า บรรดาข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เสนอต่อศาลในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีแต่โจทก์ก็มีสิทธที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในศาลของประเทศไทยได้ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายใดหรือขัดต่อตวามสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยได้
จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์มาเพื่อประกอลบเข้ากับมอเตอร์และอุปกรณ์อื่นผลิตเป็นปั๊มเซตแล้วนำออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอันเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินค้าจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ที่สั่งซื้อมาเพื่อนำมาใช้ในกิจการของลูกหนี้นั่นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้เงินตราต่างประเทศ: อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้บังคับ & การเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน
แม้คดีนี้จะมีการสืบพยานบุคคลของโจทก์และจำเลยเพียงฝ่ายละ 1 ปาก แต่จำเลยได้ฟ้องแย้งไว้ด้วย คดีมีทุนทรัพย์ตามคำฟ้องจำนวน 1,883,931.97 บาท และทุนทรัพย์ตามคำฟ้องแย้งจำนวน 994,076.66 บาท ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทนายความตามอัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ขั้นสูงร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าทนายความจำนวน 40,000 บาท นั้น ไม่ถือว่าสูงเกินไป
โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศ ซึ่งหากจำเลยจะชำระหนี้เป็นเงินไทยก็ได้ แต่การเปลี่ยนเงินต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันฟ้องเท่ากับการพิพากษานอกเหนือหรือเกินไปกว่าคำฟ้องจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หนี้เงินต่างประเทศสกุลฟรังก์ฝรั่งเคสที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระแก่โจทก์ตามคำฟ้องเป็นเงินตราของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปที่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในประเทศดังกล่าวจึงเห็นสมควรกำหนดวิธีการคิดคำนวณมูลค่าเงินไว้เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีด้วย
หากในเวลาใช้เงินจริงนั้นเงินฟรังก์ฝรั่งเคสเป็นเงินตราชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้ว ให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินสกุลที่ใช้แทนเงินฟรังก์ฝรั่งเคสที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ต้นเงินฟรังก์ฝรั่งเศสพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้นโดยคิดดอกเบี้ยถึงวันก่อนวันคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้เงินฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นเงินสกุลที่ใช้แทน ทั้งนี้ โดยการคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่เป็นเงินฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนนั้นให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ในขณะหรือก่อนเวลาใช้เงินจริง และคิดดอกเบี้ยของต้นเงินที่เปลี่ยนเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนนั้นนับแต่วันเปลี่ยนเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันสัญญาซื้อขายและการบังคับชำระหนี้ตามสกุลเงินที่ตกลงกัน
เมื่อโจทก์ได้กระทำการไปภายในวัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ตามที่ปรากฏตามหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคล สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษาโดยโจทก์มิได้มีคำขอมาจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8322/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และสกุลเงินที่ใช้ชำระ
หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในต่างประเทศมีการรับรองโดยเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์กับเจ้าหน้าที่กงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่งว่ามีการจัดทำเอกสารอย่างแท้จริง กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาซื้อขายพิพาทระบุเงื่อนไขชำระราคาใน 365 วันจากวันที่มีการส่งของ และตามใบตราส่ง โจทก์ส่งของให้แก่ผู้ขนส่งวันที่ 18ธันวาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันที่โจทก์ออกใบกำกับสินค้าพร้อมแจ้งหนี้ดังนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของหนี้เงินค่าสินค้าในระหว่างผิดนัดได้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม2541 เป็นต้นไป มิใช่คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7166/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางอากาศ: การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะและสกุลเงินชดใช้
โจทก์ที่ 5 บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าขาดไร้อุปการะว่าโจทก์ที่ 5 กับนายโท. เป็นสามีภริยากันและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชาย อ. และเด็กชาย ม. บุตรทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ โจทก์ที่ 5 และบุตรทั้งสองต้องอาศัยรายได้จากนายโท. เป็นเงินเลี้ยงชีพและค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมทั้งค่าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่นนี้ แม้โจทก์ที่ 5 จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าใช้สิทธิฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ก็มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของบุตรทั้งสองด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีในนามของบุตรทั้งสองโดยปริยายแล้ว
เมื่อนักบินผู้ควบคุมเครื่องบินเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และความเสียหายเกิดจากเครื่องบินซึ่งเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล กรณีจึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยในวินาศภัยอันเกิดจากเที่ยวบินดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายในอนาคตที่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 ต้องเดินทางไปเคารพศพนายโท. ในสถานที่เกิดเหตุเป็นเวลา 10 ปี ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จงใจละเมิดกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานแห่งความปลอดภัย ก็มิใช่ค่าสินไหมทดแทนที่จะเรียกร้องเอากับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443
แม้โจทก์ที่ 5 จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินสกุลมาร์กเยอรมันโดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงินสกุลบาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซื้อขายหุ้นต่างสกุลเงิน: สันนิษฐานตามสภาพแวดล้อมและพยานหลักฐาน
สัญญา ซื้อขายหุ้น หุ้นส่วน วิธีพิจารณาแพ่งความสันนิษฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ และการแก้ไขค่าเสียหายสกุลเงินต่างประเทศ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน - แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 เห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ถึง (6) บัญญัติได้เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติหรือ "UNCITRAL Model Laws" ที่กำหนดไว้ใน Ariticle 34 และ 36 การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต/ทรัสต์รีซีท: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การแปลงสกุลเงิน, และอัตราดอกเบี้ย
การที่จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์ เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องนำสินค้าออกไปพร้อมกับชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์พร้อมกับออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นหลัก จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์จึงเป็นการประกันเพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น หาใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวไม่
แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัดจึงมีผลใช้บังคับ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้
โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินประกาศของธนาคารโจทก์ที่ประกาศกำหนดเอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง โดยไม่ได้กำหนดให้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
เนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้เป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเป็นกรณีที่ต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนดอกเบี้ยดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงสมควรให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)