คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สภาพที่ตั้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ราคาประเมินต้องเป็นธรรม พิจารณาสภาพที่ตั้งและวัตถุประสงค์การเวนคืน
ตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2527 มาตรา 5ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน... ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม มาตรา 5 นี้เน้นให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนนและทะเลเป็นหลักการประเมินราคาที่ดินเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืน แม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้มากขึ้นก็ตามแต่ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 6กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่ามีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาจึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น เป็นการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่คำนึงถึงสภาพและทื่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ นั้น ที่ดินพิพาทมีราคาที่ซื้อขายกันจริงเป็นราคาเท่าใด จึงกำหนดเงินค่าทดแทนให้ตามราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายหลังจากพระราชกฤษฎีกา ฯ ใช้บังคับประมาณ 3 เดือน อันเป็นเวลาใกล้เคียงกับการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ ดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาซื้อขายกันจริง และเป็นราคาที่ตรงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินแล้วและถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ราคาตามความเป็นธรรมต้องพิจารณาสภาพที่ตั้งและวัตถุประสงค์การเวนคืน มิใช่ราคาตลาดทั่วไป
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาททำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น ต้องเอาราคาสูงขึ้นนั้นมาหักกับค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว เท่ากับโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อในครั้งแรกถึง 6 เท่าตัว จึงไม่มีเหตุจะได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2527 มาตรา 5ให้นิคมอุตสาหกรรมจำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2525ทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ดังนั้น การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อำเภอเมืองระยอง ในปี 2525 ถึง 2527 ซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนน และทะเลเป็นหลักในการประเมินราคาเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป การพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่จะถูกเวนคืนต้องพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่เป็นอยู่จริงในแต่ละแปลง มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในตำบลใด ห่างจากถนนหรือทะเล ตรงตามบัญชีกำหนดราคาที่ดิน ฯ ในหน่วยใดก็กำหนดให้ตามนั้น ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2522 มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ จึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ฯแสดงให้เห็นว่าจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยวิธีการของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เวนคืน ฯ มาตรา 5 ดังกล่าวข้างต้น
ราคาที่ดินที่เคยซื้อขายกันดังที่โจทก์นำสืบมา บางแปลงอยู่ต่างตำบลและต่างอำเภอกับที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวแปลงใดอยู่ห่างที่ดินพิพาทระยะทางเท่าใด สภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวแปลงใดมีสภาพและที่ตั้งเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ดินพิพาทแปลงไหนบ้าง จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายของที่ดินดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ราคาที่ดินต้องพิจารณาจากสภาพที่ตั้ง วัตถุประสงค์ และรายได้ที่ดิน
ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ.2527 มาตรา 5 การกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืน จะต้องพิจารณาจากผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการหนึ่ง สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประการหนึ่งและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอีกประการหนึ่ง รวม 3 ประการด้วยกันจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพียงประการเดียว ราคาดังกล่าวประเมินโดยเอาตำบล ถนน และทะเล เป็นหลัก ซึ่งเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ไว้ซ้ำอีก มีผลเท่ากับบังคับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 ที่บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยเห็นได้อยู่ในตัวว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรา 6(3) จำเลยมีสิทธิให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมของจำเลยได้ นอกจากนี้มาตรา 32 และมาตรา 35 บัญญัติให้ประธานกรรมการ พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นจึงได้บัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้จำเลยแสวงกำไรจากการกดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของจำเลย หรือเพื่อผลกำไรจะได้กลับมาสำหรับจ่ายเป็นโบนัสทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม การที่จำเลยนำเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียวมากำหนดเป็นราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไร่ละ 50,000 บาทโดยพิจารณาถึงรายได้ที่จำเลยได้รับจากการให้เช่าที่ดินของโจทก์ที่ได้ไปจากการเวนคืนไร่ละ 48,000 บาท ต่อปี จึงชอบแล้ว เพราะรายได้จากทรัพย์สินกับราคาของทรัพย์สินนั้นย่อมจะต้องสัมพันธ์กันพระราชบัญญัติ ญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527มาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่จนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง