พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. - การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 90 วัน - หลักฐานการสมัคร
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2529 โดยมีหลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องแสดงต่อศาลคือ สำเนาทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรค สำเนาบัตรประจำตัวสมาชิก และบันทึกผลการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง แต่ในสมุดทะเบียนสมาชิกพรรค ปรากฏว่าชื่อผู้ร้องมีรอยลบข้อความเดิม แล้วเขียนชื่อผู้ร้องขึ้นใหม่ โดยใช้หมึกที่แตกต่างจากชื่ออื่น และลายมือเขียนก็เป็นของคนละคนกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องเช่นนั้น และมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด นับเป็นข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อเท็จจริงการเป็นสมาชิกพรรค ป. ของผู้ร้อง แม้ผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปรากฏว่ามีเพียง 5 ราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้องที่ไม่มีเอกสารใบสมัครสมาชิก ทะเบียนสมาชิก หรือบัตรสมาชิกพรรคก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่อาจรับฟังได้ว่า พรรค ป. ได้รับผู้ร้องเป็นสมาชิกวันที่ 8 มกราคม 2529 จริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง สำหรับบัตรประจำตัวสมาชิกซึ่งผู้ร้องอ้างว่าบัตรเดิมสูญหาย จึงมีการจัดทำบัตรขึ้นใหม่ภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยวันที่ออกบัตร คือ วันที่ 8 มกราคม 2529 นั้น เป็นไปตามทางปฏิบัติของพรรค ป. จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2549 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1844/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการแจ้งรายชื่อสมาชิก
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 107 (4) ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคสยาม เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ซึ่งพรรคสยามจะต้องแจ้งรายชื่อสมาชิกเพิ่มเติมต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในเดือนมกราคมของทุกปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 34 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาพร้อมด้วยรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ของสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานที่ว่าพรรคสยามได้แจ้งรายชื่อผู้คัดค้านเป็นสมาชิกเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่ไม่มีชื่อของผู้คัดค้านในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการ แสดงว่าพรรคสยามไม่ได้แจ้งเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคของผู้คัดค้านให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 107 (4)
(คำสั่งศาลฎีกา)
(คำสั่งศาลฎีกา)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. – การใช้เอกสารปลอมในการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ขาดคุณสมบัติ
หนังสือสำคัญรับรองการสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของผู้คัดค้านที่ผู้คัดค้านยื่นเป็นหลักฐานต่อผู้ร้องในวันสมัครรับเลือกตั้งนั้นเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเท่ากับว่าในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้านนั้น ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแสดงต่อผู้ร้อง ซึ่งในกรณีของผู้คัดค้านที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติให้ต้องแสดงหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าต่อผู้ร้องเมื่อยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งด้วย เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาดังกล่าวมาแสดงในวันยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (3) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีหรือไม่ เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนชื่อผู้เสียสิทธิสมัคร ส.ส. กรณีเจ้าหน้าที่ละเลยหน้าที่ ทำให้ผู้มีสิทธิไม่ได้รับการพิจารณาแจ้งเหตุไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้ร้องยื่นหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนายอำเภอไว้โดยชอบแล้ว นายอำเภอซึ่งเป็นนายทะเบียนอำเภอตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (4) ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบุคคลรับแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการพิจารณาการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543 ข้อ 3 มีหน้าที่พิจารณาเหตุของการไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ ตามข้อ 6 กับข้อ 12 แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้แจ้งเหตุทราบโดยเร็ว แต่นายทะเบียนอำเภอไม่ได้พิจารณาคำร้องของผู้ร้องเพราะเจ้าหน้าที่อำเภอไม่ได้นำหนังสือของผู้ร้องเสนอต่อนายทะเบียนอำเภอ เนื่องจากหนังสือดังกล่าวสูญหาย อันเป็นความผิดพลาดของฝ่ายนายทะเบียนอำเภอที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังนี้ การจัดให้ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ของฝ่ายผู้คัดค้านจึงไม่ชอบ ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 23 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การแจ้งข้อมูลเท็จทางการศึกษา และการรอการลงโทษ
ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใดหามีความสำคัญไม่ พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 จำเลยกรอกใบสมัครเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจำเลยจบการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ความจริงแล้วจำเลยไม่ได้จบการศึกษาชั้นดังกล่าว อันเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับสมัครเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137กับแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติในความหมายของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 6 นั้น หมายถึงหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของชาติในขณะที่ผู้นั้นสอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้เมื่อปรากฏว่าจำเลยสอบไล่ได้ตามหลักสูตรประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลายมัธยมปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งขณะนั้นแผนการศึกษาของชาติที่ใช้บังคับอยู่คือแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 สำหรับชั้นมัธยมศึกษาแยกออกเป็น 3 สาย ในสาย ข. มัธยมวิสามัญศึกษาซึ่งมีชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายเพียงแค่มัธยมปีที่ 6 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยสอบไล่ได้ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามแผนการศึกษาของชาติพ.ศ. 2494 แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขแล้ว การที่จำเลยสมัครรับเลือกรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะกรอกคุณสมบัติทางการศึกษาลงในใบสมัครไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 26 การที่จำเลยกระทำผิดโดยแจ้งคุณสมบัติทางการศึกษาเป็นเท็จเป็นเพราะจำเลยเข้าใจผิดว่าตนไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งความจริงแล้วจำเลยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์สิ่งแวดล้อมแล้ว สมควรรอการลงโทษไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การศึกษาเทียบเท่า มัธยมศึกษาตอนปลาย และการรับสมัคร
การที่ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ก.ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยนำข้อความในมาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มากล่าวในคำร้องนั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า ก.มิใช่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นคำร้องที่ชัดแจ้ง ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว หลังจากจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก.ได้เข้าเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนวัดราชนัดดาและสอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 หลังจากนั้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาวัดสุทัศน์และสอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ 6 ซึ่งสามารถเข้าเรียนต่อในสายอาชีวะได้ เมื่อ ก.ได้เข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 3 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนพณิชยการพระนครซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบได้ชั้นประโยคเตรียมอุดมศึกษาจึงถือได้ว่า ก.ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ก.จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387-388/2501 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญชาติโดยการเกิดและการแปลงชาติของบิดา ไม่กระทบสัญชาติไทยของบุตร และคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.
จำเลยที่ 2 มีมารดาเป็นไทยและเกิดในประเทศไทยย่อมมีสัญชาติเป็นไทยแม้จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และถ้าหากบิดาของจำเลยที่ 2 ได้แปลงชาติเป็นไทยแล้วขณะที่จำเลยที่ 2 สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ถือว่าจำเลยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวขณะที่ทำการสมัคร จะขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งไม่ได้