คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาทรัสต์รีซีท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการหักหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท และอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามประกาศธนาคาร
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทหักกับบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์เพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีท อันเป็นการให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงที่ระบุไว้โดยไม่จำต้องขอรับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 อีก ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงที่บังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติเสมอไป การที่โจทก์มิได้นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไปหักทอนในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์เป็นจำนวนสูงเกือบเต็มวงเงินที่จะเบิกเกินบัญชีได้ ทั้งนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 หากโจทก์นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองรายการไปหักทอนในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระหนี้สินมากขึ้น ประกอบกับก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเบิก ดังนี้กรณีที่โจทก์มิได้นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไปหักทอนในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, สัญญาทรัสต์รีซีท, อัตราดอกเบี้ย, ข้อพิพาททางการค้า
ลายมือชื่อผู้แทนจำเลยที่ 2 ในช่องผู้ค้ำประกันคือลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน จึงเชื่อได้ว่าผู้ที่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ลงในช่องผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันคือ จำเลยที่ 6 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประทับตราสำคัญดังกล่าวเอง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าตราสำคัญที่นำมาประทับดังกล่าวมิใช่ตราสำคัญที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปัดความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้
การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ และให้โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนนั้น เป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือรับทำการงานต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่ จึงไม่อาจนำเอาอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีได้ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิจากโจทก์ไปรับสินค้าก่อน แล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ในภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความโดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีทมิได้กำหนดจำนวนดอกเบี้ยไว้แน่นอนตายตัว ดอกเบี้ยในข้อ 4 นี้ ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาต่อโจทก์ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวในข้อ 7 กลับระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จสิ้นโดยต้องย้อนไปใช้อัตราตามที่ระบุในข้อ 4 ของสัญญา คืออัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่ใช้กับลูกค้าที่ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทรัสต์รีซีทต่อเนื่องจาก L/C ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หนี้เดิมไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด
การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายไปแล้ว เมื่อสินค้าขนส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนไปก่อนได้ทันที จำเลยที่ 1 จึงขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ด้วยการขอรับสินค้าไปก่อนแล้วจะชำระราคาภายในวันที่กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็คือสินค้าที่ขอให้โจทก์ชำระเงินแทนตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั่นเอง สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นเรื่องที่คู่สัญญาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทำความตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต อันถือว่าสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่ทำต่อเนื่องจากคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หาใช่เป็นเรื่องที่คู่สัญญามีเจตนาจะก่อหนี้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมูลหนี้เดิมแต่อย่างใด คงเป็นมูลหนี้ในประเภทและจำนวนเดียวกัน มูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจึงไม่ระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ค่าซื้อสินค้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ ในฐานะที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3998/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของจำเลยร่วม และการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ต้องเป็นไปตามประกาศธนาคารและข้อตกลงในสัญญา
โจทก์บรรยายฟ้องระบุข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 แถลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ ไม่ติดใจต่อสู้ตามคำให้การและทางนำสืบของตน เท่ากับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ทุกประเภทที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์แล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 6 อีกต่อไป การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไปวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงไม่ถูกต้อง
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ และตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารโจทก์ นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ก็ตาม ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญาแต่อย่างใด ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทรัสต์รีซีทกับการให้สินเชื่อ: สิทธิเรียกร้องและดอกเบี้ยที่ถูกต้อง
สัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่สืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ย และได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลา ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อความทำนองให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสามัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไปแล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทนดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีทระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16 ต่อปี ซึ่งตรงกับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับสินเชื่อทั่วไปตามประกาศของธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญานั้นและตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไปแต่อย่างใด แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมาเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขถูกต้องได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาทรัสต์รีซีท การคิดดอกเบี้ยสูงสุด และอายุความ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทสืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ย และได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน เป็นเรื่องการให้สินเชื่อของโจทก์ซึ่งมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นโดยตรง ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสำคัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไปแล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 รวม 2 ฉบับ และชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วตามที่มีการเรียกเก็บโดยตั๋วแลกเงินในสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับระบุกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนคือ วันที่ 16 มิถุนายน 2536 และวันที่ 18 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องให้รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้นฉบับแรกนับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2536 ฉบับที่สองนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2536 แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยมาเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ดังนี้ แม้ตามคำให้การดังกล่าวจะระบุถึงตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ ดังกล่าวเท่านั้น และตามคำให้การดังกล่าวก็ระบุถึงวันเริ่มนับอายุความถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นคำให้การที่ประสงค์จะยกอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยของต้นเงินที่เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ นี้นั่นเอง ถือว่ายกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว
ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ อันเป็นสัญญาที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้นั่นคือ วันที่ 17 มิถุนายน 2536 และ 19 สิงหาคม 2536 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดตลอดมา ซึ่งเกินกว่า 5 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เฉพาะส่วนที่นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไป แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมาซึ่งผิดจากข้อสัญญาอันเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงเกินสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามสัญญาและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวตามคำฟ้อง ทั้งที่เป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3171-3172/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนและดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญาทรัสต์รีซีท: การพิจารณาความชอบธรรมของอัตราดอกเบี้ยและขอบเขตอำนาจตัวแทน
แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังนั้น ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงมีอำนาจแต่งตั้ง น. ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้
ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้และสำเนาบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยที่ 1 สามารถตรวจดูเพื่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นมากน้อยเพียงใดจึงจะเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์ได้มอบหมายให้ น. ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนอง ไปยังจำเลยที่ 1 โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว แม้จำนวนหนี้จำนองที่โจทก์เรียกร้องทวงถามจะสูงถึง 376,479,799.79 บาท แต่หนี้จำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าจะต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับก่อนหน้าที่ทนายโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว และหลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยให้เวลาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันเป็นการไถ่ถอนจำนองได้อีก 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว ตามพฤติการณ์ถือได้ว่ากำหนดเวลาบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นพอสมควรและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
ตามสัญญาระบุไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ดอกเบี้ยตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญากับโจทก์ โดยดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราสูงสุดได้แก่ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) และตามสัญญาได้ระบุไว้ด้วยว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราเดียว คือ อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อสูงสุดของโจทก์ที่เรียกจากลูกค้าซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไข (ซีแอลอาร์) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับตามสัญญาซื้อขาย, สัญญาทรัสต์รีซีท, ศาลลดเบี้ยปรับ, อัตราดอกเบี้ยสูงเกินสมควร
การที่ธนาคารโจทก์บอกเลิกสัญญาทรัสต์รีซีท เพื่อให้จำเลยนำเงินค่าสินค้า ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแล้วคืนโจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ย เป็นผลเพียงให้สัญญาทรัสต์รีซีทสิ้นสุดลง ส่วนความผูกพันในเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญาที่ล่วงมาแล้วก่อนบอกเลิกสัญญายังคงมีเหมือนเดิมกรณีไม่อาจนำเรื่องการกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาใช้บังคับ
สัญญาทรัสต์รีซีทที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารโจทก์ มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามสัญญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท การสะดุดหยุดของอายุความ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง
ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง4ฉบับข้อ6กำหนดไว้ว่าจำเลยที่1ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ18ต่อปีในจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่าต้องชำระแก่โจทก์โดยเริ่มนับจากวันทำสัญญานี้จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินครบถ้วนจากจำเลยที่1ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยและจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่ได้โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยได้โดยพลันนับแต่วันทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา203วรรคหนึ่งอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญาทรัสต์รีซีทเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169(เดิม)อายุความดอกเบี้ยค้างส่งเริ่มนับจากวันถัดจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ5ปีการที่จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยสำหรับสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง4ฉบับบางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา172(เดิม)โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด5ปีจึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องดอกเบี้ย จำเลยที่2ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้นย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา692ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา295จำเลยที่2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1 จำเลยที่3ผู้จำนองแม้หนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าให้รับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมด้วยเมื่อจำเลยที่1รับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่3เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา295วรรคสองจำเลยที่3ผู้จำนองจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังไป5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา189(เดิม)และมาตรา745 จำเลยทั้งสามฎีกาว่าในการผ่อนชำระหนี้จำเลยทั้งสามมิได้กำหนดชำระหนี้รายใดไว้โดยเฉพาะโจทก์ชอบที่จะเอาชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อนแต่โจทก์เลือกการชำระหนี้เอาเองตามใจชอบจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามนั้นประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลตเตอร์ออฟเครดิต: ความรับผิดตามสัญญาแม้สินค้าไม่ตรงตามเอกสาร และผลของการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท
จำเลยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องแล้ว ธนาคารโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีสินค้าที่ส่งมาเสียหายขาดจำนวนหรือบกพร่อง และตกลงให้ถือเอาระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตมีเอกสารประกอบ (แก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ.1962) ของสภาหอการค้านานาชาติ ซึ่งระบุว่าให้ถือเอาความถูกต้องของเอกสารเป็นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญา เมื่อปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมาคือ รายการสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่ง (BILLSOFLADING) และบัญชีราคาสินค้า(INVOICES) ทุกรายการถูกต้องตรงกับรายการสินค้าในใบเสนอ(OFFER) ซึ่งแนบท้ายเลตเตอร์ออฟเครดิต และบริษัทผู้ขายสินค้าได้เสนอเอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว แม้สินค้านั้นไม่ตรงตามรายการที่ระบุในใบตราส่งบัญชีราคาสินค้าและใบเสนอดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้
จำเลยทำสัญญาทรัสต์รีซีทสำหรับสินค้าที่ส่งมา โดยแบ่งแยกชำระเป็นงวด ๆ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดแรกโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในหนี้ทั้งจำนวนได้
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2524)
of 2