คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาพิเศษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าและคำมั่นสัญญาโอนที่ดิน: การบังคับตามสัญญาพิเศษและการตีความตามเจตนา
ขณะทำสัญญาเช่าไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันในฐานะใกล้ชิดอย่างไร ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยกที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หา แต่กลับปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนโจทก์และ ส.ซื้อที่ดินตามฟ้องจากเจ้าของที่ดินคนเดิม การที่โจทก์ตกลงจะแบ่งแยกที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองให้จำเลย เพื่อโจทก์จะได้ขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ลักษณะข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ใช่สัญญาให้หรือมีคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เป็นสัญญาที่มีขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญาที่ใช้บังคับกันได้ ประกอบกับในการตีความสัญญานั้น ป.พ.พ.มาตรา 368 ให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เมื่อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้แก่จำเลย ตามสัญญาเช่า
โจทก์เป็นผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้บริบูรณ์ จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามขอ เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว และโจทก์จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงกัน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีหน้าที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยตามคำมั่นดังกล่าวหรือไม่ โดยคู่ความขอสละประเด็นอื่น ๆ ทั้งหมด ปัญหาการอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นโจทก์ไม่มีสิทธิหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ โจทก์จะยกขึ้นฎีกาต่อมาไม่ได้ตามป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4746/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อยกเว้น แต่ข้อสัญญาพิเศษคุ้มครองบุคคลภายนอก ทำให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิด
แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะมีข้อความระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วันก็ตาม แต่ก็มีข้อสัญญาพิเศษระบุว่า "ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิด บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด ฯลฯ แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที" ดังนั้นจำเลยร่วมจะยกเอาเหตุที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า 180 วันมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าพิเศษ: การปรับปรุงอาคารและกรรมสิทธิ์ที่ตกเป็นของผู้ให้เช่า
โจทก์เช่าอาคารเฉพาะชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 6 จากจำเลยในอัตราค่าเช่าเดือนละ 200,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ปรับปรุงอาคารที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นห้องพักและสำนักงาน สิ้นค่าใช้จ่ายไป 6,000,000 บาทและจะต้องชำระค่าเช่าให้จำเลยอีกเดือนละ 200,000 บาท ทั้งตามข้อสัญญาระบุว่าบรรดาสิ่งที่ผู้เช่าได้นำมาตกแต่งในสถานที่เช่า ถ้ามีลักษณะติดตรึงตรากับตัวอาคารแล้ว ผู้เช่าจะรื้อถอนไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การปลูกสร้างหรือดัดแปลงต่อเติมที่ผู้เช่าได้กระทำขึ้นนั้น ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น ในการลงทุนปรับปรุงอาคารพิพาทประกอบกับข้อสัญญาดังกล่าวบ่งชี้ว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยรถยนต์: ความยินยอมผู้ขับขี่เสมือนผู้เอาประกันภัย
จ.เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยที่ 3 แม้จะมีข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.3 ว่า บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายก็ตาม แต่กรมธราม์ดังกล่าวข้อ 2.8 ก็มีข้อความว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง จำเลยที่ 2นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้โดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของตนเป็นคนขับ แล้วเกิดเหตุคดีนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย และมีฐานะเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาข้อ 2.8 ซึ่งเป็นข้อตกลงพิเศษ หาได้ขัดกับมาตรา 887 วรรคหนึ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทต้องมีผลกระทบต่อผลคดี สัญญาเช่าสิ้นสุด ผู้รับโอนสิทธิไม่ผูกพันสัญญาพิเศษ
ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาท ศาลย่อมคำนึงว่าข้ออ้างข้อเถียงที่จะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทจะต้องมีผลกระทบกระเทือนถึงผลแห่งคดี ถ้าข้อโต้เถียงใดไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงผลแห่งคดี ย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทให้คู่ความนำสืบ
คดีฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากห้องพิพาท โจทก์มีโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายซึ่งทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงโดยแจ้งชัดว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมด้วยห้องพิพาทซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม การที่จำเลยเถียงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมไม่ใช่เจ้าของที่ดินรวมทั้งห้องพิพาท จึงเป็นการดึงดันเถียงโดยมีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า ที่ศาลสั่งตัดพยานจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 แล้ว
เมื่อสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับเจ้าของเดิมสิ้นกำหนดเวลาเช่าแล้ว ถึงหากจำเลยจะมีสัญญาต่างตอบแทนกับเจ้าของเดิมยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา สัญญานั้นก็คงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทคงรับโอนมาเฉพาะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าตามสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 หาถูกผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษนั้นด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2519 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าไม่จดทะเบียนและฟ้องแย้งบังคับจดทะเบียน: ศาลไม่รับฟ้องแย้ง แม้มีค่าตอบแทนพิเศษ
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์จดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 10 ปี โดยอ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เพราะจำเลยเสียค่าตอบแทนการเช่าเป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งตามคำให้การไม่กล่าวว่าเป็นเงินค่าอะไรอีก แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ดังข้ออ้างของจำเลย ก็หาทำให้สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่ เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจะฟ้องบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนหาได้ไม่ แม้ศาลจะรับฟ้องแย้งไว้ จำเลยก็ไม่มีทางชนะคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2495 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดินสร้างอาคารและส่งมอบคืน: สิทธิบอกเลิกสัญญาและการตีราคาทรัพย์สิน
เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกมีกำหนดถึง 10 ปี แล้วผู้เช่าจะยกตึกที่ปลูกสร้างทดแทนให้เจ้าของที่ดินอีกโสดหนึ่งต่างหากจากค่าเช่า ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด 10 ปีไม่ได้
ผู้ให้เช่าฟ้องขอให้เลิกสัญญาเช่น และขอให้ผู้เช่าส่งมอบที่ดินที่เช่ากับสิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าปลูกสร้างลงไว้บนที่ดินที่เข่าให้แก่ผู้ให้เช่านั้น ต้องตีราคาสิ่งปลูกสร้างเป็นทุนทรัพย์แห่งคดี และต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมตามระเบียบ เพราะเป็นทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้อง ไม่จำเป็นจะต้องฟังคำให้การของจำเลยก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีรับประกันคุณภาพสินค้า: สัญญาพิเศษมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ซื้อสีจากจำเลยโดยจำเลยรับรองคุณภาพของสีไว้เป็นพิเศษเป็นเวลา 1 ปี จึงมิใช่การซื้อขายธรรมดา ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่เป็นค่าสีเสื่อมคุณภาพและค่าส่วนต่างที่โจทก์ต้องซื้อสีมาใช้ทดแทนสีที่เสื่อมคุณภาพตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินซึ่งจะทำให้คดีโจทก์มีอายุความ 1 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30